โดย: Sombat Chalermliamthong and Patrick Trail, ECHO Asia Impact Center
ตีพิมพ์แล้ว: 01-09-2021


1สมบัติ เฉลิมเลี่ยมทอง และ 1แพททริค เทรลล์

1ศูนย์การเรียนรู้ เอคโค่ เอเชีย อิมแพค เซนเตอร์ จ.เชียงใหม่

 [หมายเหตุบรรณาธิการ: คำแนะนำเป็นขั้นตอนนี้นำมาจากระบบการผลิตหนอนแมลงวันลายที่ศูนย์การเรียนรู้ เอคโค่ฟาร์มขนาดเล็ก ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างของระบบหนึ่งที่ใช้งานอยู่และควรนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในพื้นที่และความพร้อมของวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่มี บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายรายละเอียดในระบบ “ขยายขนาด” ที่เพิ่มวัสดุอุปกรณ์อีกหลายๆอย่างจากบทความที่เขียนก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการผลิตหนอนแมลงวันลายในสวนหลังบ้านและภายในครัวเรือน]

AN47 BSF Fig 1

ภาพที่ 1 ผู้เขียนเอาตัวหนอนแมลงวันลายที่แข็งแรงให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ดูที่ศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มขนาดเล็ก เอคโค่ เอเชีย

คำนำสู่การผลิตหนอนแมลงวันลาย

สิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จของฟาร์มขนาดเล็กคือฟาร์มนั้นมีความสามารถในการเปลี่ยนของเหลือใช้ในฟาร์มให้เป็นผลผลิตทางเลือกที่มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น การเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Hermetia illucens) เพื่อใช้ในฟาร์มซึ่งเป็นกิจการผู้ผลิตขนาดเล็กเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ได้ การนำของเหลือใช้ทั่วไป เช่น เศษอาหารและมูลสัตว์ โดยใช้หนอนแมลงวันลายมาเป็นตัวเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นของเสียเหล่านี้ให้กลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสูงสำหรับปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ยังผลิตวัสดุที่เหมาะกับการปรับปรุงดินอีกด้วย

การผลิตตัวอ่อนหนอนแมลงวันลายยังมีศักยภาพที่ดีในพื้นที่ที่ขาดแคลนโปรตีนเลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ภูเขาห่างไกล การเลี้ยงสุกร สัตว์ปีก และปลา  ที่เป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากวัตถุดิบอาหารที่มีโปรตีนนั้นมีราคาแพง เช่นปลาป่น หรือถั่วเหลืองป่น การเลี้ยงหนอนแมลงวันลายอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่คนในพื้นที่นั้นสามารถทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ใช้ต้นทุนต่ำ      แม้มนุษย์จะสามารถบริโภคตัวอ่อนของแมลงวันลายได้อย่างปลอดภัยด้วย แต่จุดเน้นของบทความนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การเลี้ยงหรือผลิตหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นอาหารให้กับสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร    

มีข้อดีที่มีอยู่มายมายในการผลิตหนอนแมลงวันลาย โดยที่ข้อเสียมีอยู่ไม่มาก สิ่งที่ควรทราบเป็นพิเศษคือหนอนแมลงวันลายเป็นตัวแปรรูปขยะที่มีความสามารถสูงมาก สามารถเลี้ยงขยายจำนวนได้อย่างรวดเร็ว  และต้องการพื้นที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสถานประกอบการเกษตรหรือปศุสัตว์ประเภทอื่น และสิ่งที่สำคัญที่สังเกตได้อีกอย่างคือหนอนแมลงวันลายไม่ถือเป็นสัตว์รบกวน อย่างที่มีความเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ หนอนแมลงวันลายไม่ใช่พาหะนำโรค และไม่ได้เป็นแมลงกัดหรือต่อย

 

การผลิตหนอนแมลงวันลาย

ข้อดี

  • ของเสียถูกเปลี่ยนเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีโปรตีนสูงและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก
  • สารอาหารจากหนอนแมลงวันลายเต็มไปด้วยพลังงาน    
  • ต้นทุนการผลิตโดยรวมต่ำ
  • หนอนแมลงวันลายช่วยยับยั้งเชื้อโรคในขยะ
  • ไม่เป็นศัตรูต่อมนุษย์ และไม่ใช่พาหะนำโรค
  • ผลิตผลอื่นๆ (หรือมูล)สามารถนำไปปรับปรุงดินได้เป็นอย่างดี
  • แมลงวันลายมีวงจรชีวิตสั้นและให้ผลผลิตรวดเร็ว

ข้อเสีย

  • อาจส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • มีปัญหาเรื่องศัตรู (นก,หนู)
  • การยอมรับในสังคมและวัฒนธรรม

คุณค่าทางอาหารของตัวอ่อนแมลงวันลาย

AN47 BSF Fig2

ภาพที่ 2 การแยกสารอาหารของหนอนแมลงวันลายแบบแห้ง ที่มา: Feedipedia, 2021

ตัวอ่อนแมลงวันลายเต็มไปด้วยสารอาหารทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ นอกจากปริมาณโปรตีนและไขมันอยู่ในระดับเปอร์เซนต์ที่สูงแล้ว ตัวอ่อนยังมีสารอาหารที่ครบถ้วน อีกทั้งสารอาหารรอง ไคติน กรดอะมิโน และวิตามิน ในภาพที่ 2 ต่อไปนี้ เป็นการนำเสนอภาพที่อธิบายองค์ประกอบสารอาหารต่างๆที่มีอยู่ในตัวอ่อนแมลงวันลาย สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมและการแยกส่วนประกอบสารอาหารแต่ละอย่างของแมลงวันลายนั้น สามารถดูบทความสรุปได้ที่ Barragan-Fonseca et al., 2017.

คำแนะนำในขั้นตอนของการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในระบบขยายขนาด

ขั้นตอนคำแนะนำนี้เป็นภาพถ่ายการเฝ้าติดตามระบบการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มขนาดเล็กเอคโค่ เอเชีย ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ระบบการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายนี้     มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตตัวหนอนแมลงวันลายให้มีอยู่อย่างเพียงพอ เพื่อใช้ในการเลี้ยงไก่และปลาในฟาร์ม แต่ไม่ถือเป็นการผลิตขนาดใหญ่หรือเป็นอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ข้อมูลต่างๆในปัจจุบันที่มีอยู่ออนไลน์ก็เพื่อการเริ่มต้นและดูแลรักษาระบบการเลี้ยงแมลงวันลายขนาดเล็กในสวนหลังบ้าน เช่น การเลี้ยงในถังน้ำขนาดเล็ก ถังขนาดใหญ่ และถังแกลลอนน้ำมัน แต่ระบบที่เราจะกล่าวถึงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตหนอนให้มีปริมาณมากขึ้นในระยะต่างๆของการเลี้ยงและในวงจรชีวิต ขณะที่เขียนบทความนี้ ระบบนี้ยังคงผลิตหนอนแมลงวันลายได้อย่างสม่ำเสมอในประมาณ 10 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มต้น

ตามที่ได้กล่าวไว้ในก่อนหน้านี้ว่า แมลงวันลาย Hermetia illucens (ภาพที่ 3) พบได้ในเกือบทุกแห่งในโลกของเรา โดยมันสามารถปรับตัวเองจากพื้นที่เดิมในอเมริกาจนปัจจุบันกลายเป็นแมลงที่พบได้ทั่วไป การเริ่มต้นระบบการผลิตหรือเลี้ยงแมลงวันลายนั้น สามารถจับเอาแมลงวันมาเองหรือหาซื้อจากแหล่งขายที่มีอยู่ในพื้นที่ บทความนี้จะสันนิษฐานเอาว่าผู้อ่านซื้อมา และได้เริ่มต้นจากการมีไข่ ตัวหนอน หรือแมลงวันตัวเต็มวัยอยู่พร้อมแล้ว

AN47 BSF Fig3

ภาพที่ 3  แมลงวันลายตัวเต็มวัย (Hermetia illucens)

ขั้นตอนที่ 2 สร้างโรงเรือนสำหรับการผสมพันธุ์

การสร้างโรงเรือนปิดสำหรับผสมพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการผลิตไข่ ซึ่งเป็นขั้นแรกในการผลิตหนอนแมลงวันลาย โรงเรือนปิดแบบนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของการผลิตที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยมีหลายทางเลือกและวิธีปรับเปลี่ยนหลายแนวทาง โรงเรือนปิดสำหรับผสมพันธุ์อาจสร้างเป็นห้องผนังมุ้งลวดขนาดใหญ่ ดังตัวอย่างจากภาพด้านบนที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชีย หรืออาจเป็นระบบเล็กกว่านี้ที่ใช้มุ้งกันยุงหรือแม้แต่ตะกร้าผ้าที่เป็นผ้าตาข่าย ไม่ว่าขนาดหรือรูปแบบจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือสถานที่ผสมพันธุ์จะต้องมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือจะต้องอยู่ในสภาพปิด เพื่อไม่ให้แมลงวันลายบินหนีไปและเป็นป้องกันศัตรูอย่างนกหรือหนูไม่ให้เข้ามา

ภายในพื้นที่ปิดนี้ ควรมีการเตรียมบางอย่างให้กับแมลงวันตัวเต็มวัย ซึ่งได้แก่แหล่งน้ำ พืชผัก และพื้นผิวที่แมลงจะซ่อนและผสมพันธุ์ รวมถึง “ห้องมืด” ด้านในที่แมลงวันตัวเมียจะวางไข่ ในระยะนี้ของวงจรชีวิต ทั้งดักแด้และตัวเต็มวัยจะไม่กินอาหารเลย ดังนั้นจึงควรจัดเตรียมอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อเป็นการล่อให้ตัวเมียวางไข่

AN47 BSF Fig4

ภาพที่ 4 โรงเรือนปิดผนังมุ้งลวดสำหรับผสมพันธุ์แมลงวันลาย ด้านในมีห้องมืดและด้านบนมีสปริงเกอร์ปล่อยน้ำเพื่อควบคุมความชื้น เป็นที่สำหรับผสมพันธุ์ตัวเต็มวัยและตัวเมียใช้เป็นที่วางไข่

ขั้นตอนที่ 3 เก็บไข่

การจะเก็บไข่ของแมลงวันลายตัวเมียเต็มวัยได้นั้น จะต้องมีการเตรียมการไว้ภายในโรงเรือน ที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชียนั้น เราพบว่าแท่งแผ่นไม้ขนาดเล็กใช้ได้ผลดี คือเป็นทั้งสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูดให้แมลงวันตัวเมียวางไข่และเป็นวิธีการหนึ่งที่สะดวกต่อเจ้าหน้าที่ที่จะเก็บไข่ การใช้แผ่นกระดาษแข็งขนาดเล็กเป็นวิธีที่ทำกันอยู่ทั่วไปเพื่อเป็นวัสดุให้แมลงวันวางไข่ (Wong, 2020) แต่เราชอบวิธีการใช้แท่งแผ่นไม้ขนาดเล็กมากกว่าเพราะสะดวกกว่าในการเก็บไข่และมักจะได้ไข่ในปริมาณที่มากกว่าด้วย ในระยะนี้มีสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตคือแมลงวันลายจะไม่วางไข่ลงบนหรือในอาหาร แต่จะวางไข่ในบริเวณใกล้กับอาหาร ดังนั้นแท่งไม้สำหรับวางไข่ควรวางไว้ใกล้กับอาหารตามที่แสดงไว้ในภาพที่ 5

AN47 BSF Fig5

ภาพที่ 5 ภายในโรงเรือนปิด มีแท่งแผ่นไม้ที่มีช่องว่างเล็กๆเพื่อให้แมลงวันลายตัวเมียได้วางไข่ โดยแท่งไม้ วางอยู่ด้านบนอาหาร แต่ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง

เมื่อต้องการเก็บไข่ ควรนำแท่งไม้ออกมา แยกแท่งไม้ออกจากกันและค่อยๆขูดไข่ของแมลงวันลายออกมาอย่างระมัดระวัง สิ่งสำคัญคือในระยะนี้คือไข่อาจมีอายุไม่เท่ากันหากไม่ได้เอาแท่งไม้ออกมาทุกวัน การมีไข่ที่มีอายุต่างกันนั้น ตัวอ่อนจะฟักตัวและเติบโตในระยะต่างกัน ทำให้ต้องเพิ่มงานคัดแยกเมื่อครบกำหนด ตามหลักการแล้ว เมื่อทำการผลิตแมลงวันลายปริมาณมากขึ้น ควรให้ตัวอ่อนอยู่ในระยะอายุและระยะครบกำหนดที่พร้อมกัน โดยทั่วไปแล้ว ตัวเมียเต็มวัยจะผลิตไข่ได้อยู่ที่ประมาณ 300-400 ฟองในชั่วอายุ

AN47 BSF Fig6

ภาพที่ 6  เมื่อมีการวางไข่แล้ว สามารถนำแท่งไม้ออกมาและแยกแท่งไม้ออกจากกันเพื่อจะเก็บไข่ได้ง่ายขึ้น ไม้จิ้มฟันเป็นตัวช่วยสร้างช่องว่างเล็กๆระหว่างแท่งไม้ที่ตัวเมียจะได้มาวางไข่  

ขั้นตอนที่ 4 การเปลี่ยนจากไข่เป็นตัวหนอน

เมื่อเก็บไข่มาแล้ว ให้นำไข่ย้ายไปยังที่ที่มีอาหารอยู่ ที่พวกมันจะฟักตัวและคลานเข้าไปยังอาหารที่เตรียมไว้ใกล้ๆ โดยปกติแล้วไข่จะฟักตัวภายใน 4 วันจากการวางไข่ ในระยะนี้ เมื่อตัวหนอนยังตัวเล็กอยู่ อาจใช้ถาดพลาสติกเพื่อใส่อาหารหรือเศษอาหารปริมาณไม่มากไว้ รวมถึงใส่ตัวหนอนไว้ด้วย เราใช้ตาข่ายมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร

AN47 BSF Fig7

ภาพที่ 7 ไข่ที่เก็บมาแล้วให้ค่อยๆนำไปวางไว้อย่างเบามือบนอาหาร โดยวางไข่บนตะแกรงมุ้งลวดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับอาหารที่มีความชื้น เมื่อไข่ฟักตัว พวกมันจะไปหาแหล่งอาหารได้อย่างรวดเร็ว

ขั้นตอนที่ 5 การเลือกอาหารที่เหมาะสม

ข้อดีที่มีประโยชน์มากอย่างหนึ่งของหนอนแมลงวันลายคือความสามารถในการกินอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเศษผักผลไม้จากตลาด, มูลสัตว์, เศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน, กระดูกป่น และอื่นๆอีกหลายอย่าง บทความนี้จะไม่ระบุแหล่งที่มาของอาหาร แต่จะแนะนำผู้ผลิตได้ค้นพบแหล่งอาหารที่เรียกว่า “ขยะ” ที่ผู้ผลิตมีอยู่แล้ว ตามหลักการแล้วควรตั้งเป้าหมายไปที่ขยะอินทรีย์เหลือใช้ จำพวกขยะจากตลาด เศษอาหารจากร้านอาหาร รำข้าว ธัญพืชที่ใช้แล้วจากการหมักเบียร์, กากถั่วเหลืองจากการทำน้ำนมถั่วเหลือง, ฯลฯ    

AN47 BSF Fig8

ภาพที่ 8 มีแหล่งอาหารมากมายเป็นทางเลือกสำหรับการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เช่น เปลือกสับปะรดที่เก็บได้จากตลาดตามที่เห็นในภาพ

เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ให้หนอนมีความสมดุล หรือ “สมบูรณ์” มีคำแนะนำว่าควรนำเศษอาหารหลายๆชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการช่วย “เพิ่มปริมาณ” อาหารสำหรับหนอนเพื่อจะได้หนอนจำนวนมากขึ้น แต่วิธีนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำก็ได้

AN47 BSF Fig9

ภาพที่ 9 เพื่อให้แน่ใจว่าหนอนแมลงวันลายจะเติบโตแข็งแรงและมีสุขภาพดี เราอาจผสมเศษอาหารเหลือใช้ที่มีคุณภาพสูงกว่า เช่น รำข้าวและข้าวโพดป่น รวมกับเศษอาหารที่คุณภาพต่ำ

ขั้นตอนที่ 6 การขยายการผลิต

เมื่อตัวหนอนฟักตัวออกมาและกินอาหาร พวกมันจะต้อง “ไต่ขึ้น” ไปยังภาชนะหรือบ่อที่ใหญ่ขึ้นเพื่อจะมีพื้นที่ไม่แออัด ระหว่างระยะนี้ จะมีการให้อาหารเพิ่มขึ้นและปล่อยให้ตัวหนอนกินอาหารไป

*หมายเหตุ: สิ่งที่สำคัญมากคือการควบคุมความชื้นเพื่อหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็นและการเน่าเสียของอาหารของแมลงวันลาย คือไม่ควรปล่อยให้กองอาหารหรือเศษขยะอินทรีย์ขาดออกซิเจน กระบะหรือบ่อควรมีที่ระบายความชื้นเพื่อไม่ให้เกิดของเหลวค้างอยู่ ที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชีย เราใช้วัตถุดิบที่สามารถช่วยได้ เช่นรำข้าวหรือข้าวป่นที่ช่วยดูดซับความชื้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น

AN47 BSF Fig10

ภาพที่ 10 ระบบเลี้ยงแมลงวันลายขนาดใหญ่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในพื้นที่ทางภาคเหนือ ฟาร์มแห่งนี้ใช้บ่อแยกกัน โดยใช้เศษอาหารต่างๆในการเลี้ยงตัวหนอนในระยะต่างๆ

ขั้นตอนที่ 7 รู้ว่าเมื่อใดควรเก็บหนอนมาใช้

ภายในระยะเวลา 13 ถึง 18 วันต่อไปจากนี้ ตัวหนอนจะกินอาหารเยอะมาก คือแต่ละวันจะกินเยอะเป็นสองเท่าของน้ำหนักตัว เวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องรู้ว่าเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะต้องเก็บตัวหนอนไปใช้ ในตอนสุดท้ายของระยะที่เป็นตัวหนอน ก่อนถึงระยะก่อนดักแด้ (ภาพที่ 10) ตัวหนอนจะถึงจุดที่มีปริมาณสารอาหารมากที่สุดในการนำไปเป็นอาหารสัตว์ (Barragan-Fonseca et al., 2017) หากเก็บหนอนไปใช้ช้าเกินไป ผู้ผลิตอาจเสี่ยงต่อการได้อาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพลดลง และการเก็บหนอนไปใช้เร็วเกินไป อาจทำให้พลาดต่อการได้น้ำหนักและขนาดที่ควรจะเป็น คือปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่อาจจะสูงกว่า

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือการตัดสินใจในการเก็บหนอนไปใช้ในระยะนี้ ก่อนที่จะถึงตัวเต็มวัย อาจจะต้องมีรูปแบบวิธีการคัดแยกหรือคัดขนาด หรือแยกตัวอ่อนจากเศษอาหาร งานนี้อาจจะทำได้ค่อนข้างลำบาก จึงมีข้อแนะนำว่าอาจใช้ตะแกรงที่มีความถี่ต่างๆกันในขั้นตอนนี้ เครื่องเขย่าที่เป็นเครื่องจักรนั้นมีอยู่และอาจนำมาปรับใช้เพื่องานนี้ได้ หรืออาจทำได้ด้วยการใช้มือเขย่า

AN47 BSF Fig11 THAI
ภาพที่ 11 วงจรชีวิตของแมลงวันลาย (Hermetia illucens) มีวงจรชีวิตทั้งหมดประมาณ 45 วัน ก่อนถึงระยะก่อนดักแด้ ตัวหนอนจะมีคุณภาพทางอาหารสูงสุดที่เหมาะแก่การนำไปเป็นอาหารสัตว์ ที่มา: Nutrinews 2020.

ขั้นตอนที่ 8 การคัดแยก

การได้ตัวหนอนในระยะที่มีคุณค่าทางอาหารสูงสุดนั้น ต้อง “เก็บ”ตัวหนอนมาจากวัสดุอาหาร ซึ่งต้องอาศัยการคัดแยกและการเขย่าร่อนระดับหนึ่งเพื่อแยกตัวหนอนออกมา ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถทำได้ด้วยการใช้ตะแกรงขนาดต่างๆและทำได้ง่ายขึ้นด้วยการย้ายตัวหนอนไปไว้ในอาหารที่มีความละเอียดกว่าในช่วงท้ายของการเลี้ยง จะช่วยให้ขั้นตอนการแยกทำได้ง่ายขึ้น ขั้นตอนนี้จะทำด้วยมือหรืออาจจะลงทุนใช้เครื่องเขย่าที่คล้ายกับวิธีการที่ใช้ในระบบการทำปุ๋ยไส้เดือน ส่วนตัวหนอนที่นำไปเลี้ยงสัตว์โดยตรงอาจไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดอย่างดี

AN47 BSF Fig12

ภาพที่ 12 การคัดแยกตัวหนอนแมลงวันลาย

ขั้นตอนที่ 9 ผลผลิตที่ได้

ผลผลิตที่ได้เป็นตัวหนอนที่อยู่ในระยะที่มีสารอาหารมากที่สุด ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นดักแด้ ซึ่งเป็นระยะที่คุณค่าทางอาหารจะเริ่มลดลง

AN47 BSF Fig13

ภาพที่ 13 ผลผลิตที่ได้เป็นตัวหนอนที่อยู่ในระยะที่มีสารอาหารมากที่สุด ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นดักแด้ ซึ่งเป็นเวลาที่คุณค่าทางอาหารจะเริ่มลดลง

ขั้นตอนที่ 10 การเลี้ยงดักแด้เพื่อการผสมพันธุ์ ต่อไป

ระบบการเลี้ยงแมลงวันลายในหลายสถานที่ได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของดักแด้แมลงวันลายที่ “ออกมาเอง”ในระยะนี้ ดักแด้แมลงวันลายจะอพยพจากแหล่งอาหารออกมาหาที่มืดและที่สงบเพื่อเปลี่ยนเป็นแมลงตัวเต็มวัย ตามที่เห็นในตัวอย่างด้านบน (ภาพที่ 13) มีการออกแบบลักษณะต่างๆเพื่อรองรับตัวดักแด้ที่คลานออกมาจากอาหารและตกลงมาในถังหรือที่เก็บที่จัดเตรียมไว้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือเป็นความสะดวกอย่างมาก แต่อย่างที่หมายเหตุไว้ก่อนนี้ว่าพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นในระยะดักแด้เท่านั้นซึ่งเป็นระยะที่ผ่านช่วงดีที่สุดที่จะนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว

ที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชีย เราพบว่าระบบ “ปล่อยให้ออกมาเอง” นั้นใช้ได้ดีมากสำหรับการจัดเตรียมแมลงวันที่จะใช้ผสมพันธุ์ในโรงเรือนต่อไป ถือเป็นวิธีที่สะดวกหากคอยตรวจเช็คเป็นประจำและสามารถจัดหาดักแด้แมลงวันที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่องเพื่อการผสมพันธุ์

AN47 BSF Fig14

ภาพที่ 14 บ่อสำหรับเก็บหนอนแมลงวันลายแบบ “ปล่อยให้ออกมาเอง” เมื่อดักแด้เติบโตถึงระยะสุดท้าย พวกมันจะคลานออกมาจากแหล่งอาหารเองและตกลงไปในช่องที่ง่ายต่อการเก็บตัวหนอนออกมา

ปัญหาที่ควรพิจารณาในการผลิต

ศัตรูของแมลงวันลาย

ควรคำนึงถึงศัตรูที่มี เช่น นก, หนู และสัตว์อื่นๆก่อนจะจัดตั้งระบบเลี้ยงแมลงวันลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบขนาดใดก็ตาม และจำเป็นที่จะต้องเป็นระบบปิดเพราะช่วยให้แมลงวันไม่บินหนีไปและป้องกันสัตว์อื่นๆเข้ามา แต่ขั้นตอนการติดตั้งมุ้งลวดอาจมีราคาแพง และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สูงให้กับผู้ผลิต

กลิ่นไม่พึงประสงค์

ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จในระบบการเลี้ยงแมลงวันลายคือการควบคุมความชื้นให้เหมาะสม เศษขยะอินทรีย์ เช่น เปลือกผลไม้มีปริมาณความชื้นที่สูงและอาจนำไปสู่ระบบที่ไม่มีออกซิเจน การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ไม่เพียงสำคัญต่อความสำเร็จของระบบโดยรวมทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อกลิ่นที่เกิดขึ้นและการรับรู้ที่ตามมาของเพื่อนบ้านและผู้มาใช้บริการ ดังที่กล่าวไว้ว่าควรติดตั้งทางระบายน้ำและเตรียมวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ เช่น รำข้าวและแป้งข้าวเจ้าที่จะใช้ผสมลงไปเพื่อดูดซับความชื้นได้อย่างรวดเร็ว

การใช้ผลิตภัณฑ์จากแมลงวันลาย

ใช้เป็นอาหารสัตว์

AN47 BSF Fig15

ภาพที่ 15  เปรียบเทียบอาหารไก่ที่ซื้อมา เสริมด้วยตัวหนอนแมลงวันลายในอัตราส่วนต่างๆที่ฟาร์มเอคโค่ ตามที่เห็นอยู่นี้ ตัวหนอนทั้งตัวถูกนำไปผสมในอาหาร

แม้จะมีความเป็นไปได้ที่สามารถผลิตหนอนแมลงวันลาย     เพื่อการบริโภคของมนุษย์ แต่ความตั้งใจเบื้องต้นของผู้ผลิตนั้นอยู่ที่การผลิตเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะปลาและไก่ ตัวหนอนนั้นสามารถนำไปให้สัตว์กินได้เลย หรืออาจนำไปผสมเข้ากับอาหารที่มีอยู่แล้วก็ได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชียกำลังทำการทดลองร่วมกับอาหารปลาและอาหารไก่ที่มีขายในท้องตลาดที่เสริมด้วยตัวหนอนแมลงวันลายในอัตราส่วนต่างๆกัน (ภาพที่ 14) การใช้ตัวหนอนเป็นอาหารที่นำไปใช้ได้จริงและสม่ำเสมอสามารถทำได้ด้วยการนำไปให้สัตว์กินเป็นๆทั้งตัว ตากแห้ง บดเป็นผง หรือแช่แข็งก็ได้ ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมและอุปกรณ์เครื่องมือที่มี

การปรับปรุงดิน

นอกจากตัวหนอนที่ได้แล้ว แมลงวันลายยังให้มูลที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากเช่นเดียวกับมูลไส้เดือน “มูล” หรือ “ขุย” นี้สามารถนำไปใส่ดินเพื่อเป็นสารปรับปรุงดินเข้มข้น เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับระบบการผลิตทั้งหมด ในการประกอบการเชิงพาณิชย์ ผลพลอยได้จากการเลี้ยงแมลงวันลายนี้ สามารถนำไปบรรจุถุงและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แยกต่างหาก เป็นที่มาของรายได้อีกทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลางอาจนำไปพิจารณา อย่างน้อยที่สุด ผลิตภัณฑ์นี้ยังสามารถนำกลับมาใช้ได้กับแปลงผักในฟาร์ม, เป็นส่วนผสมในวัสดุเพาะต้นกล้า, ฯลฯ

สุดท้ายนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวจากแมลงวันลาย ที่นำไปใช้ปรับปรุงดินได้อีกด้วย ของเหลวนี้สามารถกักเก็บไว้ได้ในขั้นตอนการกินขณะที่ตัวหนอนกินอาหารในปริมาณมากที่เป็นขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร, มูลสัตว์ และสิ่งอื่นๆที่ได้มา

AN47 BSF Fig16

ภาพที่ 16  “มูล” หรือ “ขุย” ของแมลงวันลาย เป็นผลผลิตพลอยได้ที่มีค่ามากในระบบการผลิตแมลงวันลาย

สรุป

Bการผลิตหนอนแมลงวันลายเป็นวิธีการที่อาจเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์เสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยูกับฟาร์มและสภาพแวดล้อม สิ่งสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ คือการมีแหล่งอาหารที่มีราคาถูกหรือมีอยู่ทั่วไปในพื้นทีอยู่แล้ว และนำเอามาใช้ในการเลี้ยงแมลงวันลาย ในหลายๆกรณี แมลงวันลายถือว่าเป็นทางออกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการกับขยะอินทรีย์ที่เหลือใช้ฟาร์ม เช่น มูลสัตว์ และผลผลิตอื่นๆ     ที่ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร  

ขอขอบคุณ

คณะผู้เขียนขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณไผ่ จาก Phai BSF Ecofarm CNX ที่ยินดีแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับเรา เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆหลายอย่างจากคุณ

อ้างอิง

Barragan-Fonseca, K.B., M. Dicke, and J.J.A. van Loon. 2017. Nutritional value of the black soldier fly (Hermetia illucens L.) and its suitability as animal feed – a review. Journal of Insects as Food and Feed. 3(2): 105-120. Available: https://avingstan.com/wordpress/wp-content/uploads/2019/08/Barragan-Fonseca-et-al-2017-Nutritional-value.pdf 

Feedipedia, 2021. Tables of chemical composition and nutritional value of Black soldier fly larvae (Hermetia illucens), dehydrated. Available: https://www.feedipedia.org/node/16388 

Nutrinews. 2020. Using black soldier fly larvae as a source of protein. The Animal Nutrition. Available: https://theanimalnutrition.com/using-black-soldier-fly-larvae-as-a-source-of-protein/ 

Wong, A. 2020. Black Soldier Fly of the Frangipani Langkawi Organic Farm. ECHO Asia Notes. 41. Available: https://www.echocommunity.org/en/resources/e3d5b1f1-0ec8-4a86-97e0-d80f26e7a951 
 


ป้ายระบุ

Black Soldier Fly BSF

ภูมิภาค

Asia