โดย: Bruce Gardiner


This article is from ECHO Asia Note # 39. สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มภาษาไทยได้ในปุ่มดาวน์โหลดสีเขียว ด้านขวา

 

[หมายเหตุบรรณาธิการ: คุณบรูซ เป็นผู้จัดการโครงการของหน่วยงานโซล่าร์ รูทส์ (Solar Roots) และทำการเกษตรสาธิตขนาดเล็กที่เมืองปยิน อู ลวิน (Pyin Oo Lwin) ประเทศเมียนมาร์ โดยคุณบรูซมีความรู้ทางด้านวิศวกรและจัดสอนอบรมด้านเทคโนโลยี พลังแสงอาทิตย์และระบบปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนร่วมกับความรู้ด้านอื่นๆ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อคุณบรูซได้ที่ bruce.gardiner@yahoo.com]

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไส้เดือน

ในโลกนี้มีไส้เดือนมากกว่า 6,000 ชนิด และมีหลายชนิดที่ไม่ได้ถูกตั้งชื่อหรือศึกษาเลย อย่างไรก็ตาม ไส้เดือนที่เกษตรกรสนใจมี 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ “กลุ่มอาศัยในดินชั้นล่าง” และ “กลุ่มอาศัยบริเวณหน้าดิน” กลุ่มอาศัยในดินชั้นล่างได้แก่ไส้เดือนในสวนทั่วไปหรือไนท์ครอว์เลอร์(Nightcrawler) ที่มีสีเทาหรือชมพู มีความยาวประมาณ 15 ซม. กลุ่มนี้จะกินดินผสมกับอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย ผู้เชี่ยวชาญด้านไส้เดือนในยุคแรกคือ ชาลส์ ดาร์วิน ซึ่งเป็นผู้ยืนยันว่าไส้เดือนเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างดินให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ที่ทำการเกษตรจะไม่รู้ถึงเรื่องนี้ ไส้เดือนที่อยู่ในดินชั้นล่างจะสร้างอุโมงค์ยาวที่ลึกลงไปเกือบ 2 เมตร ทำให้น้ำและออกซิเจนแทรกซึมเข้าไปในดินได้ ในขณะเดียวกันไส้เดือนกลุ่มนี้ยังนำแร่ธาตุที่รวมตัวกันอยู่ในดินขึ้นมายังบริเวณหน้าดิน คุณประโยชน์ของไส้เดือนที่มีต่อเกษตรกรนั้นมีมากมายเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไส้เดือนที่อาศัยบนหน้าดิน หรือที่เรียกว่าไส้เดือนปุ๋ยหมักคือกลุ่มที่จะเน้นในบทความนี้ การทำปุ๋ยหมักเป็นกระบวนการย่อยสลายและคงความเสถียรของอินทรีย์วัตถุ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานร่วมกันของจุลินทรีย์ร่วมกับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กว่าที่ช่วยกันย่อยสลาย รวมถึงไส้เดือนด้วย การย่อยสลายเกิดขึ้นตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเราอยู่แล้ว และหากมีการส่งเสริมและเพิ่มความสามารถของกระบวนการย่อยสลายนี้ เกษตรกรสามารถเร่งกระบวนการหมักปุ๋ยและเพิ่มคุณภาพของอินทรีย์วัตถุได้ โดยพื้นฐานแล้วการทำปุ๋ยหมักคือการย่อยสลายของสารประกอบเชิงซ้อนออกเป็นสารประกอบพื้นฐานที่พืชนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น การทำปุ๋ยหมักโดยใช้ไส้เดือนเรียกว่า “การทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน” เป็นวิธีการปรับปรุงดินที่ดีเยี่ยม คือทำให้ดินเต็มไปด้วยจุลินทรีย์และสารอาหาร มีคุณสมบัติที่ดีในการกักเก็บน้ำและช่วยในเรื่องโครงสร้างของดิน

หมายเหตุเกี่ยวกับระบบการตั้งชื่อ: คำศัพท์ที่ใช้ในสาขานี้มีมากมายและไม่มีข้อตกลงสากลว่าจะต้องใช้คำใด และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผมขอให้คำจำกัดความและการใช้ของผมเองตามนี้:

1) การเพาะเลี้ยงไส้เดือน (Vermiculture) - การตั้งใจเพาะหรือเลี้ยงไส้เดือนและใช้ความสามารถของไส้เดือนเพื่อผลิตอินทรีย์วัตถุ

2) มูลไส้เดือน (Vermicasts / Vermicastings) – มูลบริสุทธิ์ที่ไส้เดือนขับถ่าย มาจากการย่อยสลายของ อินทรีย์วัตถุที่ไม่ถูกย่อยสลายก่อนหน้านี้ หากดูแลให้ดี มูลไส้เดือนสามารถเก็บจากด้านบนของถังเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำไปใช้ได้

3) การทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน (Vermicomposting) – การใช้ไส้เดือนทำการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดสารประกอบชีวภาพที่นำไปใช้ได้

4) ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน (Vermicompost) – ส่วนผสมที่ได้จากมูลไส้เดือนบริสุทธิ์, เศษอาหารที่เหลือและวัสดุรองพื้นที่เก็บไปใช้เมื่อผ่านระยะเวลาที่พร้อม

เบื้องหลังและที่มา

มีความคิดที่ว่าไส้เดือน ไม่ว่าจะในรูปร่างแบบใด เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมานานถึง 150 ล้านปีแล้ว ดังนั้นการเลี้ยงไส้เดือนจึงเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่เพิ่งได้รับการศึกษาและพัฒนาให้ใช้เป็นประโยชน์ทางการเกษตรอย่างจริงจังในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีกล้องจุลทรรศน์ที่ทรงพลัง เราจึงเข้าถึงโลกมหัศจรรย์ของเหล่าจุลินทรีย์ได้ เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ผสมกับมูลสัตว์ในไร่นาของตนเองโดยไม่รู้ตัวมานานนับพันปี ที่ใดก็ตามที่มีกองมูลสัตว์อยู่ ที่นั่นก็จะมีไส้เดือนที่ทำปุ๋ยอยู่ ปัจจุบันการทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนถือเป็นวิชาและเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับและมหาวิทยาลัยหลายแห่งจัดวิชานี้เข้าไว้ในหลักสูตร

ชนิดของไส้เดือน

มีไส้เดือนที่ใช้ทำปุ๋ยหมักประมาณ 6 หรือ 7 สายพันธุ์ที่มีการ “นำมาเพาะเลี้ยง” และดูแลเพื่อเก็บมูลที่พวกมันผลิตออกมา ไส้เดือนที่ถูกนำไปแจกจ่ายอย่างกว้างขวางมากที่สุดคือสายพันธุ์เรด วิกเกลอร์ (Eisenia fetida) เรียกอีกอย่างว่าไส้เดือนลายเสือ หรือไส้เดือนลายเสือสีแดง ไส้เดือนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในยุโรป แต่ปัจจุบันพบในฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ไม่พบบ่อยนักในป่าของพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไส้เดือนพันธุ์พื้นเมืองของเราในเมียนมาร์และทุกแห่งระหว่างพื้นที่ในอินเดียจนถึงมาเลเซียคือไส้เดือนพันธุ์มาเลเชียน บลู (Perionyx excavatus) หรือที่เรียกว่าไส้เดือนอินเดียน บลู ส่วนสายพันธุ์ที่พบได้มากในเมียนมาร์คือ แอฟริกัน ไนท์ครอว์เลอร์ (Eudrilus eugeniae) และตามที่ชื่อบอกไว้คือไส้เดือนชนิดนี้ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดที่นี่ แต่ถูกนำเข้ามา ซึ่งผู้ที่นำมาน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กร NGO และรัฐบาล ผมทำการเลี้ยงทั้งสายพันธุ์มาเลเชียน บลูและแอฟริกัน ไนท์ครอว์เลอร์ และทั้งสองมีความแตกต่างกัน

สายพันธุ์มาเลเชียน บลู หรือพันธุ์สีน้ำเงิน: เป็นไส้เดือนที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ มักพบในกองมูลวัว ที่เป็นหนึ่งในอาหารโปรดของพวกมัน ไส้เดือนชนิดนี้ มีความยาว 8 ซม. ถึง 15 ซม. มีสีแดงเข้ม หรือสีน้ำตาล ลักษณะเด่นคือเมื่อโดนแสงหัวของมันจะเป็นประกายใสสีน้ำเงิน (ภาพที่ 1) พวกมันเป็นไส้เดือนที่ขยันมาก พวกมันจะบิดตัวไปมาอย่างรุนแรงเมื่อมีอะไรมาสัมผัสตัวหรือหรือเมื่อสัมผัสแสง ไส้เดือนสายพันธุ์นี้ขยายพันธุ์รวดเร็วและสามารถแปรสภาพอินทรีย์วัตถุจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย แต่เพราะอะไรพวกมันจึงไม่ได้เป็นไส้เดือนที่ทำปุ๋ยหมักอันดับ 1 ของโลก คำตอบคือ พวกมันมีข้อด้อยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือมันมีนิสัยไม่อยู่กับที่ หากสภาพความเป็นอยู่ไม่เป็นที่ชื่นชอบหรือเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พวกมันมักจะพยายามอพยพหนี แม้ว่าเมื่อหนีไปแล้วจะต้องตายก็ตาม ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝน ผมเสียไส้เดือนมาเลเชียน บลูไปหลายพันตัวจากส่วนเพาะเลี้ยงที่อยู่ในอาคาร เราไม่เข้าใจพฤติกรรมพวกนี้ แต่มันทำให้ผมต้องล้มเลิกการเลี้ยงสายพันธุ์นี้ไว้ในอาคาร โชคดีที่พวกมันเติบโตได้ดีในพื้นที่ภายนอก!

 

AN 39 vermi fig1
ภาพที่ 1:ไส้เดือนพันธุ์มาเลเชียน บลู (Perionyx excavatus) หรืออินเดียน บลู

สายพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ครอว์เลอร์: ไส้เดือนนำเข้าสายพันธุ์นี้ โดยทั่วไปจะต้องหาซื้อมา และราคาที่ตั้งไว้อยู่ที่ 100จ๊าต (ประมาณ 2 บาท) ต่อตัวเต็มวัยหนึ่งตัว ซึ่งหากจะเริ่มต้นเลี้ยงต้องมีอย่างน้อย 200 ตัว  สายพันธุ์แอฟริกัน ครอว์เลอร์นี้เป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่กว่า มีกล้ามเนื้อมากกว่า สามารถโตได้ถึงขนาดความยาว 15 ซม. และมองเห็นเป็นสีน้ำเงินใสอย่างชัดเจนเมื่อโดนแสงเช่นเดียวกับสายพันธุ์มาเลเชียน บลู(ภาพที่ 2) อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์นี้จะไม่ชอบหนีออกไปไหนเหมือนพี่น้องชาวมาเลเซียของมัน แต่จะมีนิสัยที่เงียบๆ ชอบที่จะนอนขี้เกียจอยู่บนผิวหน้าของอาหาร ดังนั้นหน้าฝนปีนี้ผมจึงเปลี่ยนไปเลี้ยงสายพันธุ์มาเลเชียน บลูไว้ที่กองมูลสัตว์ด้านนอกและให้แอฟริกัน ไนท์ครอว์เลอร์มาอยู่ในถังที่สร้างขึ้นเฉพาะในอาคาร

 

AN 39 vermi fig2
ภาพที่ 2: ไส้เดือนพัfนธุ์แอฟริกัน ไนท์ครอว์เลอร์ (Eudrilus eugeniae) มีประกายสีน้ำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์

สภาพการเจริญเติบโตที่ไส้เดือนชอบ

ไส้เดือนที่ช่วยในการทำปุ๋ยหมักเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทนทานและสามารถอยู่รอดได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ถ้าจะเจริญเติบโตได้ดี ต้องมีสภาวะที่เฉพาะและจำเป็น ดังนี้:

อุณหภูมิ: ไส้เดือนที่เลี้ยงเพื่อการทำปุ๋ยจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 15 ถึง 25 องศาเซลเซียส แต่พวกมันอาจตายได้หากพบกับความร้อนจัดหรือหนาวจัด ทั้งสายพันธุ์มาเลเซียและแอฟริกันเป็นไส้เดือนเขตร้อน จึงอยู่ได้สบายๆในช่วงอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง วิธีหนึ่งที่จะทำให้ไส้เดือนมีความสุขคือจัดให้มีกองอาหารกองใหญ่พอที่พวกมันจะค้นหาอุณหภูมิที่เหมาะสมกับพวกมันได้ดีที่สุด ในฤดูหนาวที่อุณหภูมิลดลง กิจกรรมของไส้เดือนคือ – การกิน การขับถ่ายและการแพร่พันธุ์จะช้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นไปอย่างปกติอีกครั้งเมื่ออากาศอบอุ่นขึ้น

ความชื้น: ไส้เดือนจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชื้นประมาณ 80% โดยน้ำหนัก ซึ่งทดสอบได้จากวัสดุรองพื้นที่ให้ความรู้สึกเหมือนฟองน้ำที่บีบน้ำออก เมื่อหยิบวัสดุรองพื้นขึ้นแล้วบีบ ควรมีน้ำออกมาหนึ่งหรือสองหยดเท่านั้น ผิวที่เปล่งประกายใสบนตัวไส้เดือนบ่งบอกถึงความชื้นที่เหมาะสม มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเลี้ยงไส้เดือนมักผิดพลาดอย่างหนึ่งคือปล่อยให้ภาชนะหรือที่ที่เลี้ยงไส้เดือนอยู่ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจนหรือขาดออกซิเจนจากการไม่มีที่ระบายน้ำ อาหารของไส้เดือนส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้ำหรือความชื้นสูง แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำการฉีดพ่นทุกวันในสภาพอากาศร้อน

การเติมอากาศหรืออกซิเจน: ไส้เดือน "หายใจ" ผ่านทางผิวหนังและกระบวนการของปุ๋ยหมักจะปล่อยก๊าซอื่น ๆออกมาด้วย โดยก๊าซเหล่านั้นจำเป็นต้องปล่อยออกไป ดังนั้นจึงต้องมีการเติมอากาศจำนวนมากเข้าไป อย่าลืมว่าคุณกำลังพยายามสร้างสภาวะที่เหมาะสำหรับไส้เดือนและแหล่งที่อยู่ของแบคทีเรีย เชื้อรา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่ทำหน้าที่ย่อยสลายที่อาศัยอยู่ในที่ที่เลี้ยงไส้เดือน

อาหาร: ไส้เดือนในกระบวนการทำปุ๋ยหมักสามารถกินอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายได้เกือบทุกชนิด เช่นเศษอาหารที่เหลือจากในครัว เศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ใบไม้ที่ร่วงหล่นหรือมูลสัตว์ เป็นต้น และเป็นอีกครั้งที่เราควรคิดถึงเรื่องของภาวะหรือจุดของการเติบโตได้ดีและจุดของการแค่มีชีวิตรอด ว่าไส้เดือนกำลังเจริญเติบโตได้ดีหรือแค่รอดชีวิตอยู่เท่านั้น เพื่อให้ได้มูลไส้เดือนที่มีคุณภาพดีและรักษาระดับนั้นไว้ เราควรให้อาหารดีๆที่มีคุณภาพและรักษาระดับคุณภาพไว้เสมอ โดยต้องใช้เวลา ความพยายามและการลงทุนที่มากขึ้น อาหารที่ไส้เดือนไม่ชอบ ได้แก่ พืชตระกูลส้ม ผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรงเช่นหัวหอม พริก เนื้อสัตว์ นม และอาหารที่มีไขมันสูง เราจะสังเกตได้โดยง่ายเมื่อพวกมักหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวและกินอาหารอย่างอื่นอย่างรวดเร็ว (เช่นฟักทอง ผลไม้อ่อน ๆ เป็นต้น) สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคืออาหารที่จะนำไปให้พวกมันควรผ่านการหมักล่วงหน้าไว้แล้วในระดับหนึ่ง การใส่ผักสดจำนวนมากลงไปมักทำให้เกิดการหมักที่มีความร้อน ซึ่งเกิดอุณหภูมิสูงจนไส้เดือนไม่สามารถทนได้ และอาจถึงขั้นที่ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากปริมาณความชื้นที่สูง และทำให้เกิดกากสีดำกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงควรหมักอาหารไว้ก่อน สับให้ละเอียดและใส่ลงไปให้มีความหนาเพียง 1 หรือ 2 นิ้ว การให้อาหารมากเกินไปมักจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าการให้น้อยเกินไป

วัสดุรองพื้น: ในขั้นตอนการเตรียมภาชนะหรือที่ที่จะเลี้ยงไส้เดือน ควรใส่วัสดุรองพื้นให้หนาอย่างน้อย 15 ซม. เพื่อให้ไส้เดือนมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ผมใช้ปุ๋ยหมักที่มีอายุอย่างน้อยหนึ่งปีเป็นวัสดุรอง แต่ตัวเลือกอื่น ๆที่จะใช้ก็มี ได้แก่ ปุ๋ยคอกที่เก็บไว้สักพักหนึ่งแล้ว ขุยมะพร้าวหรือพีท(วัสดุรองพื้นเฉพาะ) พีทเป็นวัสดุที่ไม่สามารถหาได้ง่ายในเมียนมาร์ ดังนั้นผมจึงพูดถึงมันแค่เป็นเพียงตัวอย่างของวัสดุที่เรานำมาใช้ได้เท่านั้น วัสดุรองพื้นนี้ควรมีรูพรุนที่ระบายน้ำได้ดี เมื่อเวลาผ่านไป อาหารที่นำไปให้ไส้เดือนก็จะทำหน้าที่เป็นวัสดุรองพื้นได้เช่นกัน ผมทำอาหารให้ไส้เดือนด้วยการผสมต้นกล้วยกับมูลวัว ซึ่งถือเป็นทั้งอาหารและวัสดุรองพื้นไปในตัว

แสงสว่าง: ไส้เดือนที่ทำปุ๋ยหมักไม่สามารถโดนแสงจ้าได้ ผิวของพวกมันอ่อนไหวต่อแสงมากและหากถูกแสงพวกมันก็จะพากันมุดลงไปในวัสดุรองพื้นทันที และเจ้ามาเลเชียน บลูก็จะบิดตัวไปมาอย่างรุนแรงขณะที่มันมุดหนีลงไป

ข้อดีของมูลไส้เดือนและวิธีการเก็บมูลไส้เดือนไปใช้

ไส้เดือนสามารถย่อยสลายอินทรีย์วัตถุได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนมีความเสถียรด้วยโครงสร้างที่ดีกว่า มีปริมาณจุลินทรีย์และสารอาหารหลากหลายกว่าเมื่อเทียบกับปุ๋ยหมักที่ผ่านอุณภูมิสูง นอกจากนี้ปุ๋ยมูลไส้เดือนยังมีข้อดีอื่นๆอีก ได้แก่ อุ้มน้ำได้ดีกว่า ช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของราก และมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนไอออนบวก(CEC) ที่มีประสิทธิภาพกว่า สรุปคือมูลไส้เดือนอาจถือเป็นวัสดุปรับปรุงดินแบบอินทรีย์จากธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร

ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนมีประโยชน์มากที่สุดเมื่อใช้ร่วมกับวัสดุปลูก โดยเติมปุ๋ยมูลไส้เดือนเข้าไปประมาณ 20% นอกจากนี้ยังสามารถใส่รองไว้ที่ก้นหลุมเล็กน้อยเมื่อทำการย้ายปลูกต้นกล้า โดยจะทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตในที่แห่งใหม่ได้ดี ทำให้รากแข็งแรงและมีความต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น สำหรับพืชที่โตแล้ว การใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือนไว้บริเวณด้านบนจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ รักษาความชื้น และปรับปรุงสภาพดินโดยรวมเมื่อใส่อย่างต่อเนื่อง ส่วนการทำน้ำหมักจากมูลไส้เดือน (Vermicompost Tea) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากมูลไส้เดือน วิธีง่ายๆของผมคือใส่มูลไส้เดือน 5-10 กำมือในถุงกรองแล้วเอาถุงกรองใส่ไว้ภายในถังขนาด 5 แกลลอนใส่น้ำจนเต็ม พร้อมกับหินฟองอากาศ 6 ก้อนที่ต่อกับปั๊มลมสำหรับตู้ปลาขนาดเล็ก 3 ตัว ผมเติมกากน้ำตาล 1 ช้อนชาและ EM (จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ) 2 ช้อนชา แล้วปล่อยให้เกิดฟองโดยการพ่นออกซิเจนเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง น้ำหมักที่ได้จะเต็มไปด้วยจุลินทรีย์และควรนำน้ำหมักนี้ไปใช้ภายใน 12 ชั่วโมง โดยอาจใช้เป็นสเปรย์ฉีดพ่นทางใบหรือรดบนดินให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ เราพบว่าวิธีนี้ช่วยพืชที่กำลังต่อสู้กับโรคหรือต้นอ่อนของพืชที่อ่อนแอ

วิธีการเก็บมูลไส้เดือนไปใช้มีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่:

วิธีการใช้แสงสว่าง (Light Method): กองมูลไส้เดือนที่พร้อมจะนำไปใช้บนพื้นผิวเรียบในที่ที่สว่างจ้า ไส้เดือนจะมุดลงไปด้านล่างทันทีเพื่อหนีจากแสงสว่าง หลังจากเวลาผ่านไป 10 นาทีให้ตักมูลไส้เดือนบริเวณด้านบนที่ไม่มีตัวไส้เดือนอยู่ ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆจนเหลือแต่ตัวไส้เดือน

วิธีการย้าย(หรืออพยพ)ไส้เดือน (Migration Method): อาจเป็นการย้ายแบบแนวนอนหรือแนวตั้ง วิธีการคือหยุดให้อาหารไส้เดือนเป็นเวลา 2 สัปดาห์จากนั้นใส่อาหารที่ด้านบนหรือด้านข้างของภาชนะ ไส้เดือนที่หิวโหยจะพากันอพยพไปที่อาหารโดยปล่อยให้ส่วนที่เหลือของภาชนะนั้นไม่มีไส้เดือนเหลืออยู่ อาหารที่ผมใช้เป็นส่วนผสมอาหารพิเศษที่พวกมันชอบมาก ได้แก่มันฝรั่งต้มและมันฝรั่งบด, มันเทศและแครอท

นอกจากนี้ยังมีวิธีเลื่อนผ่านลงด้านล่าง(Continuous Flow Through Method) และวิธีวางกอง (Pile Method) ที่ผมใช้ ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ภาพรวมระบบการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนของเรา

การทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนสามารถทำได้ทุกขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุด โดยใช้เศษอาหารเหลือจากในครัวไปจนถึงขนาดใหญ่ที่สุด โดยใช้ปุ๋ยคอกที่หมักไว้ล่วงหน้าและต้องใช้รถตักดินตักขึ้นมาใช้ ภาชนะที่ให้ไส้เดือนอยู่อาจทำจากพลาสติก ไม้ คอนกรีต หรือแม้แต่วัสดุผ้าที่กันน้ำ มีเว็บไซต์และวิดีโอออนไลน์มากมายที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ แต่ผมอยากจะอธิบายคร่าวๆถึงสองวิธีการที่เราใช้ในฟาร์มของเราที่เมียนมาร์

วิธีเลื่อนผ่านลงด้านล่าง (The Continuous Flow Through หรือชื่อย่อ CFT): หลักการของวิธีนี้คือ ต้องมีภาชนะ ที่เปิดด้านบนและด้านล่าง โดยที่ด้านล่างจะปิดไว้จนกว่าจะพร้อมที่จะเก็บมูลไส้เดือนไปใช้

AN 39 vermi fig3
ภาพที่ 3: วิธีเลื่อนผ่านลงด้านล่าง (Continuous Flow-Through) ปุ๋ยมูลไส้เดือนในถุงที่ทำจากผ้าคอร์ดูร่า

ส่วนการใส่อาหารนั้นให้ใส่ด้านบนและให้มีความหนา 3 ถึง 6 ซม. หลังจากนั้น 3 ถึง 6 เดือนจึงสามารถเก็บมูลไปใช้โดยเก็บจากด้านล่าง โดยปล่อยให้ไส้เดือนส่วนใหญ่ที่อยู่ตรงกลางภาชนะไม่ถูกรบกวน

ผมทำระบบนี้ขึ้นด้วยวัสดุคือ ผ้าคอร์ดูร่า (Cordura) ที่มีความทนทานเป็นพิเศษเหมือนที่ใช้ทำกระเป๋าเป้         ถังน้ำมัน 200 ลิตรและโครงสร้างโลหะหรือไม้ที่ปิดด้วยไม้อัดและวัสดุหลังคาโลหะแผ่นเรียบ ผมนำผ้าที่เตรียมไว้ไปให้ช่างเย็บผ้าแถวบ้าน ช่างจะเย็บตามแบบที่ผมบอกให้ คือเย็บให้เป็นเหมือนถุงจากแผ่นผ้า 4 ผืนเย็บเข้าด้วยกันเป็นทรงกรวย (ภาพที่ 3) มีขนาดดังที่แสดงในแผนภาพด้านล่าง (ภาพที่ 4) ผ้าชนิดนี้มีข้อดีสองอย่างคือกันน้ำและขณะเดียวกันสามารถระบายอากาศได้ดี ผมใช้ถุงผ้านี้บ่อยมากในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ เนื่องจากสามารถตรวจสอบไส้เดือนได้ทันทีและนำมาแสดงให้กับนักเรียนที่มาเยี่ยมชมได้ นอกจากนี้ถุงผ้าเหล่านี้ยังง่ายต่อการเก็บมูลไส้เดือนมาใช้จากด้านล่าง เมื่อใช้ระบบการย้ายไส้เดือนโดยเฉพาะการใช้อาหารมาล่อ

AN 39 vermi fig4

ภาพที่ 4: การออกแบบถุงผ้า วิธีเลื่อนผ่านลงด้านล่าง

ถังเลี้ยงไส้เดือนแบบเลื่อนผ่านลงด้านล่าง (CFT) ที่ขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงกว่าทำจากถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ใช้แล้ว (ภาพที่ 5) ผมได้ตัดส่วนบนออกและตัดเป็นช่องขนาด 30 ซม. x 45 ซม. ใกล้กับฐานด้านล่าง และด้านบนของช่องนี้ผมเจาะรูเล็ก 7 รู เพื่อรับกับท่อชุบสังกะสีขนาด 25 มม. ที่มีสกรูเจาะยึดไว้ (ภาพที่ 6) การติดตั้งท่อและสกรูนี้โดยมีกระดาษแข็ง 3 - 4 แผ่นวางไว้ด้านบนของท่อ เป็นการทำ "พื้น" ที่ผมใส่วัสดุรองพื้นไว้หนา 15 ซม. ต่อด้วยการใส่ไส้เดือนและสุดท้ายคือใส่อาหาร แล้วผมจะปิดด้านบนของถังทั้งหมดอีกชั้นด้วยกระดาษแข็งและกระสอบป่าน จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือนปล่อยให้ไส้เดือนกินกระดาษแข็งและปล่อยให้มีมูลไส้เดือนมากพอที่จะก่อตัวแน่นเป็นชั้นด้านล่าง หลังจากนั้น 6 เดือน เมื่อถังเกือบเต็ม ให้ทำการเก็บมูลไส้เดือนไปใช้ด้วยการหมุนที่จับสีฟ้าที่อยู่บนท่อ เพื่อกระเทาะมูลไส้เดือนแห้งที่อยู่ 50 มม.จากด้านล่างสุดให้หลุดออกมา โดยไม่รบกวนไส้เดือนด้านบนที่กำลังกินอาหารอยู่อย่างเพลิดเพลิน เมื่อระบบเหล่านี้เริ่มใช้งานได้ จะช่วยลดการทำงานให้น้อยลงและได้มูลไส้เดือนอย่างสม่ำเสมอ

AN 39 vermi fig5
ภาพที่ 5: วิธีเลื่อนผ่านลงด้านล่าง (Continuous Flow-Through) ผ่านถัง 200 ลิตร การออกแบบ(ช้าย) ที่จับท่อพีวีซีสีฟ้าใช้เพื่อหมุนและทำให้มูลไส้เดือนตกลงจากด้านล่าง

วิธีกองอาหาร (The Pile Method) : วิธีนี้ทำได้ง่ายๆ คือใช้มูลวัวหรือวัสดุอื่นๆที่หมักไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยกองไว้บนพื้น ล้อมรอบด้วยตาข่ายหรือไม้ไผ่ ตราบใดที่มีการใส่อาหารอย่างสม่ำเสมอและกองนี้ไม่ถูกแดดและฝน ไส้เดือนมาเลเชียน บลูที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่อยู่แล้วจะพากันมาเองและผลิตมูลไส้เดือนคุณภาพที่สามารถเก็บไปใช้ได้ในเวลาประมาณ 6 เดือน หากพวกไส้เดือนตัดสินใจที่จะจากไปในช่วงที่มีพายุฝน ส่วนมากพวกมันก็จะกลับมาอีก เพราะกองนี้มีอาหารที่ดีที่สุดในละแวกนั้น

AN 39 vermi fig6
ภาพที่ 6: วิธีเลื่อนผ่านลงด้านล่าง (Continuous Flow-Through) ถัง 200 ลิตร มูลไส้เดือนที่อยู่บนพื้นที่ถูกหมุนและทำให้มูลไส้เดือนตกลงมา

 

AN 39 vermi fig7
ภาพที่ 7: กองปุ๋ยหมักมูลใส้เดือนในมูลวัวที่มีไว้นอกอาคาร มีการฉีดน้ำเพื่อรักษาความชื้นในวันที่อากาศร้อน

สรุป 

การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนต่ำและปรับขนาดตามความต้องการใช้ได้ แม้ว่าเกษตรกรจะนอนหลับแล้ว แต่ไส้เดือนยังทำงานอย่างหนักอยู่เพื่อผลิตวัสดุปรับปรุงดินที่เป็นธรรมชาติและมีคุณภาพดีที่สุด  จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพ จึงทำให้ตลาดพืชผลที่ปลูกแบบออร์แกนิกเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากเป็นระบบขนาดใหญ่ การผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนสามารถช่วยชุมชนในการจัดการขยะอินทรีย์และรับผลพลอยได้ที่มีคุณค่า ผมขอให้ผู้อ่านได้เห็นความสำคัญของไส้เดือนที่ต่ำต้อยและผลงานของพวกมัน เพราะเป็นไปได้ว่าไส้เดือนอาจเป็นหนึ่งในเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์!

 

 

 

 

อ้างอิง

Appelhof, M. A., J. Olszewsk. 2017. Worms Eat My Garbage: How to Set Up and Maintain a Worm Composting System. 

Berkelaar, D. 2009. Income and Other Benefits from Using Worms to Make Compost. ECHO Development Notes. 104:1-6. https://www.echocommunity.org/en/resources/28a1cd54-b295-4d67-98e6-7fd38d5a05cf

Edwards, C. A., N. Q. Arancon., R. L. Sherman. 2010. Vermiculture Technology Earthworms, Organic Wastes, and Environmental Management.

Nancarrow, L., J. H. Taylor. 2012. The Worm Book: The Complete Guide to Gardening and Composting with Worms. 

Yarger, L. 2010. Vermiculture Basics and Vermicompost. ECHO Technical Notes. 66:1-6. Available: https://www.echocommunity.org/en/resources/36b1f6c2-ceb9-4a21-8470-ea87aacf4f8e 
 


ภูมิภาค

Asia