โดย: Patrick Trail, Boonsong Thansrithong, & Sombat Chalermliamthong


This article is from ECHO Asia Note # 42

AN 42 Pig feed Fig1
ภาพที่ 1 “อาหารสัตว์จากกล้วยหมัก” ทำทุกสัปดาห์ที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชีย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรคือคุณชัย พร้อมกับวัตถุดิบที่ต้องใช้ในขั้นตอนการทำ

[หมายเหตุบรรณาธิการ: นอกจากเมล็ดพันธุ์และพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้จากศูนย์การเรียนรู้เอคโค่ฟาร์มขนาดเล็กแล้ว เรายังมีความพยายามในการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในขบวนการต่างๆเอาไว้ ซึ่งเราเรียกว่าการวิจัย และเป้าหมายของเราคือเพื่อแบ่งปันให้ผู้อื่น บทความนี้เป็นการสรุปบทเรียนบางส่วนที่เราได้เรียนรู้จากขั้นตอนการทำ “อาหารสัตว์จากวัตถุดิบในฟาร์ม]

คำนำสู่การทำอาหารสัตว์จากต้นกล้วยหมัก

การทำปศุสัตว์แบบผสมผสานในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยมักเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาวของฟาร์ม โดยเฉพาะการใช้การหมุนเวียนสารอาหารที่จำเป็น ปศุสัตว์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฟาร์ม เพราะช่วยเปลี่ยนพืชและวัสดุเหลือใช้ให้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคในฟาร์มหรือเพื่อขายต่อไป สุกรซึ่งเป็นสัตว์ที่กินทั้งเนื้อและพืชเป็นอาหารจึงถือเป็นตัวแปลงที่มีประสิทธิภาพที่สุดชนิดหนึ่งในฟาร์ม คือการเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เหมาะแก่การบริโภคของมนุษย์ให้กลายเป็นเนื้อ มูลสัตว์ และรายได้

ที่ฟาร์มเอคโคเอเชีย เราพยายามหาวิธีที่จะผลิต “อาหารสัตว์ที่ผลิตจากวัตถุดิบในฟาร์ม” ของเราเอง เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ และในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงปศุสัตว์ นอกจากนั้นจะได้เนื้อสัตว์และรายได้ที่เกิดขึ้นจากวัว สุกร ไก่ และปลาแล้ว เรายังคำนึงถึงคุณค่าของมูลสัตว์เหล่านี้ ที่เรานำไปใช้ในหลายๆด้านรวมถึงการหมักและใช้ในการผลิตพืชผล

ในการผลิตอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในฟาร์ม เราขอแนะนำให้ใช้สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (ในฟาร์มหรือบริเวณใกล้เคียง) โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับวัตถุดิบที่อาจถือว่าเป็น “ของเหลือ” หรือ “ถูกประเมินคุณค่าต่ำ” ที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชีย เราใช้ต้นกล้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ที่สุดของเรา สำหรับส่วนต่อไปของบทความนี้เราจะเน้นไปที่ขั้นตอน วิธีการทำ และประโยชน์ที่ได้จาก “อาหารสุกรที่ใช้กล้วยเป็นหลัก” ซึ่งได้จากส่วนผสมหลักคือต้นกล้วย  ต้นกล้วยที่นำมาหมักนี้จะถูกย่อยสลายและเพิ่มความสามารถในการย่อยอาหารได้ และต่อมาจะนำไปผสมกับวัตถุดิบต้นทุนต่ำอื่นๆที่หาได้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรำข้าว, ข้าวโพดป่น, ปลาป่น, ฯลฯ (ดูจากตารางที่ 1) วิธีการนี้ไม่ใช่เป็นวิธีการใหม่ แต่ถูกนำไปปรับใช้มานานแล้วโดยเกษตรกรรายย่อยมากมายในภูมิภาคนี้ ถือเป็นวิธีที่นำมาปรับใช้ได้อยู่เสมอ

วิธีการผลิตอาหารสัตว์ของเราที่เอคโค่ เอเชีย

วิธีการตามขั้นตอนจากรูปภาพ

1. การเลือกต้นกล้วย

AN 42 Pig feed Fig2

ภาพที่ 2 ต้นกล้วยที่ยังไม่ออกปลีเหมาะกับการนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ เพราะเมื่อออกปลีแล้ว ลำต้นจะเหนียว ย่อยยากและมีปริมาณสารอาหารน้อยลง

ต้นกล้วยที่มีอยู่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่ากัน หากเป็นไปได้ เราแนะนำให้ตัดต้นกล้วยที่อายุไม่มากเพื่อนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ (ภาพที่ 2) ในระยะการเจริญเติบโตนี้ ลำต้นยังไม่ได้เปลี่ยนพลังงานและสารอาหารไปสู่ระยะการผลิตผลกล้วย จึงยังคงความอ่อนและย่อยได้ง่าย เราปลูกกล้วยน้ำว้าไว้เพื่อไว้ทำเป็นอาหารสัตว์

2. การหั่น

ตัดใบออกจากลำต้น (ใช้สำหรับแพะและวัวหรือควาย) ส่วนลำต้นเท่านั้นที่จะนำไปใช้เป็นอาหารสุกร เราใช้เครื่องสับ โดยการใส่ลำต้นเข้าไปในเครื่องเพื่อให้สับออกมาเป็นชิ้นเล็กๆขนาดยาวประมาณ 2-5 ซม. (ภาพที่ 3) ยิ่งชิ้นเล็กเท่าไหร่ก็จะยิ่งหมักและย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ต้นกลัวยที่สับได้นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับสุกรที่เป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นวัว (มีหลายกระเพาะ) ที่สามารถย่อยสลายเส้นใยจากพืชได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

3. การหมัก

เราใช้การหมักระยะสั้น โดยนำต้นกล้วยสับมาหมักเพียง 3-4 วัน (ภาพที่ 3.2) นำกากน้ำตาลและเกลือแร่ผสมเข้ากับต้นกล้วยสับ จากนั้นกดให้แน่นแล้วปิดให้สนิทในถังสูญญากาศและปล่อยไว้ให้เกิดการหมัก หากไม่มีการหมัก ต้นกล้วยจะไม่มีคุณค่าทางโภชนาการมากนัก แต่ขบวนการนี้จะช่วยทำให้เกิดจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่จะเป็นช่องทางการส่งผ่านแหล่งโปรตีนให้กับสุกร (ส่วนนี้ยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติม)

4. การเพิ่มปริมาณอาหารด้วยส่วนผสมอื่น

ต้นกล้วยหมักอย่างเดียวมีคุณค่าทางสารอาหารน้อยและต้องนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่นที่มีคุณภาพกว่าเพื่อให้เป็นสัดส่วนอาหารสัตว์ที่เหมาะสม (ภาพที่ 3.3) การทดสอบต้นกล้วยหมักของเรานั้น พบว่ามีปริมาณโปรตีนหยาบ 6% จากตารางที่ 1 เป็นการสรุปส่วนผสมที่เราใช้ หมายเหตุ: ส่วนผสมเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่มีมากที่สุดและราคาถูกที่สุดสำหรับเรา โดยพิจารณาจากสถานที่ตั้งของฟาร์มของเราแต่อาจเป็นวัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมกับสถานที่ตั้งอื่น

AN 42 Pig Feed Fig3 all
ภาพที่ 3 (1) ต้นกล้วยสับสดๆ (ยิ่งชิ้นเล็กยิ่งดี), (2) ต้นกล้วยสับหลังจากหมักแบบไร้อากาศ 3-4 วันผสมกับเกลือแร่และกากน้ำตาล (3) ต้นกล้วยหมักผสมกับวัตถุดิบที่มีคุณภาพและพร้อมนำไปเป็นอาหารสัตว์

การทดลองวิจัย: อาหารสัตว์ทำเอง vs. อาหารสัตว์ที่ผลิตขายในตลาด

เป็นเวลาหลายเดือนที่ฟาร์มเอคโค่ เอเชีย ได้ทำการทดลองใช้อาหารที่ทำจากต้นกล้วยหมัก แล้วนำมาเลี้ยงหมูดำพันธุ์ท้องถิ่นของเรา เพื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ผลิตขายในตลาดในระบบการเลี้ยงสุกรขนาดเล็กที่เรามี เป้าหมายคือเพื่อประเมินราคาโดยรวมของการผลิตอาหารสัตว์เองโดยรักษาการเพิ่มน้ำหนักของสุกรให้ใกล้เคียงกันกับการเลี้ยงสุกรด้วยอาหารที่ซื้อมาจากท้องตลาด สุกรกลุ่มหนึ่งได้รับอาหารที่ซื้อมา โดยสุกรอีกกลุ่มได้อาหารที่ทำเองจากวัตถุดิบในฟาร์ม สุกรทั้งหมดมาจากครอกเดียวกันและถูกแยกออกเท่าๆกันตามน้ำหนักแรกที่มีและเพศ โดยเราจะชั่งน้ำหนักสุกรทุกๆ 2 สัปดาห์

รายการต่อไปนี้เป็นข้อมูลสรุป (ตารางที่ 1) ของสัดส่วนอาหารที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบในฟาร์มของเราตามโปรตีนเป้าหมายที่ต้องการ 3 ชนิดในแต่ละระยะการเติบโต เป้าหมายคือเพื่อผลิตอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในฟาร์มและวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่เพื่อจะเปรียบเทียบกับอาหารที่ผลิตขายในตลาด ในแง่ของส่วนประกอบที่มีคุณค่าทางโภชนาการและค่าใช้จ่ายต้นทุนโดยรวม เราใช้ต้นกล้วยหมักเป็นส่วนผสมหลัก โดยที่วัตถุดิบอื่นๆเราสามารถหาได้จากฟาร์มหรือหาซื้อจากในพื้นที่ สิ่งที่สำคัญคือต้นกล้วยถือเป็นวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่าย (แม้จะมีอยู่ทั่วไปโดยไม่ต้องซื้อในฟาร์มของเรา) หากพิจารณาถึงแรงงานที่ต้องใช้ในการปลูกกล้วยอย่าลืมคิดถึงและอย่าลืมให้คุณค่ากับแรงงานที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรรายย่อยที่นำแนวปฏิบัตินี้มาใช้

“ต้นกล้วยถือเป็นวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่าย (แม้จะมีทั่วไปในฟาร์มของเรา)หากพิจารณาถึงแรงงานที่ต้องใช้ในการปลูกกล้วย  อย่าลืมคิดถึงและให้คุณค่ากับแรงงานที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรรายย่อยที่นำแนวปฏิบัตินี้มาใช้”

AN 42 Pig Feed Table1 THAI
ตารางที่ 1 ตารางสรุปสำหรับอาหารสัตว์ที่ผลิตเองจากวัตถุดิบที่มีต้นกล้วยเป็นหลัก สูตรนี้สำหรับอาหารที่เสร็จแล้ว 100 กก.และโปรตีนที่ต้องการตามระยะเติบโตของสุกร

ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในฟาร์มตามสูตรข้างต้นนี้มีราคาที่ถูกกว่ามาก (ตารางที่ 2) เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ซื้อมาจากท้องตลาด อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณความชื้นที่สูงของต้นกล้วยหมักที่เป็นส่วนผสมหลัก จึงจำเป็นต้องให้อาหารที่ผลิตเองนี้ต่อสุกรมากขึ้นประมาณ 50% เพื่อคงปริมาณวัตถุแห้งที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่มีในอาหารที่ซื้อมา (ตารางที่ 3) หมายเหตุ: ปริมาณความชื้นของต้นกล้วยหมักอย่างเดียวอยู่ที่ประมาณ 90% แต่อาหารที่ผสมครบส่วนแล้วมีปริมาณความชื่นเฉลี่ยใกล้เคียงอยู่ที่ 50% เมื่อมีการผสมต้นกล้วยกับวัตถุดิบอื่นๆ

AN 42 Pig Feed Table2 THAI
ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างอาหารสูตรที่ผลิตเองและอาหารที่ซื้อมาจากท้องตลาด
AN 42 Pig Feed Table3 THAI
ตารางที่ 3 สรุปตารางการให้อาหารที่ผลิตเองและอาหารที่ซื้อมาจากท้องตลาด

 

สูตรอาหารจะมีการปรับไปตามระยะการเติบโตของสุกร โดยให้อาหารโปรตีนสูงกับสุกรอายุน้อยกว่าและโตเร็วกว่า และลดปริมาณอาหารนี้ลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น ตารางที่ 3 สรุปอัตราอาหารที่ให้แก่สุกรแต่ละระยะไว้ โดยให้ปริมาณส่วนเพิ่มขึ้นขณะที่ปริมาณโปรตีนน้อยลงเมื่อสุกรอายุมาก 

 

ผลที่ได้จากการทดลองให้อาหารสัตว์ของเอคโค่ เอเชีย

ผลที่ได้จากการทดลองแสดงให้เห็นว่าสุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ที่ซื้อมาจากท้องตลาดจะใช้เวลาประมาณ 147 วันเพื่อจะได้น้ำหนักที่ตลาดต้องการ (เป้าหมายที่ต้องการคือ 70 กิโลกรัม) และจะกินอาหารประมาณ 105 กิโลกรัม (คำนวนเมื่อสุกรอายุ 9 สัปดาห์) (ภาพที่ 4) สุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ทำเองจากฟาร์มจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นช้ากว่า (น้ำหนักที่ตลาดต้องการอยู่ที่ 159 วัน) ดังนั้นจึงกินอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ รวมอาหารที่กินโดยรวมทั้งหมดคือ 189 กิโลกรัมต่อตัว

AN 42 Pig Feed Table4 THAI
ตารางที่ 4 สรุปการวิเคราะห์ต้นทุนอาหารสุกรที่ทำเองและซื้อมา เริ่มที่สุกรอายุ 9 สัปดาห์และสิ้นสุดที่ 70 กก.ที่เป็น ”น้ำหนักขายในตลาด”

แม้อาหารสัตว์ในฟาร์มจะผลิตได้ราคาถูกกว่าต่อกิโลกรัม แต่ต้องนำไปเลี้ยงสุกรในอัตราส่วนที่สูงกว่า (ทั้งรายวันและตลอดอายุของสุกร) ดังนั้นจึงมีผลทำให้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงขึ้นสำหรับผู้ผลิต ซึ่งในกรณีนี้คือ 1930 บาท ผลที่ได้นี้จึงเป็นการย้ำเตือนอย่างดีว่าอาหารแต่ละอย่างมีการผลิตที่ไม่เท่าเทียมกัน และจำเป็นต้องทำการพิจารณาจากคุณค่าทางอาหารและไม่ใช่จากปริมาณเพียงเท่านั้นเมื่อจะเปรียบเทียบกันระหว่างอาหารที่ทำเองกับที่ซื้อมา

อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ

อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อหรืออัตราแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio หรือ FCR) เป็นวิธีการทั่วไปที่ใช้กำหนดประสิทธิภาพในการที่สัตว์จะเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัว ตัวอย่างเช่น วัวตัวหนึ่งอาจต้องการอาหาร 8 กก.เพื่อให้ได้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 1 กก. โดยอัตราส่วนนี้อาจนำไปใช้เพื่อพิจารณาประสิทธิภาพของอาหารสัตว์ เมื่อใช้กับสัตว์ประเภทเดียวกัน เช่นเดียวกับกับกรณีของทดลองการให้อาหารสุกรของเรา

การใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาระหว่างการทดลองนี้ทำให้เราสามารถประเมินอัตราแลกเนื้อเฉลี่ย 2.7 สำหรับอาหารที่ซื้อมาและอัตราแลกเนื้อเฉลี่ย 4.3 สำหรับอาหารทำเอง (ตารางที่ 4) ผลที่ได้นี้ทำให้เห็นชัดเจนถึงความจริงที่ว่าอาหารแต่ละสูตรผลิตไม่เหมือนกันและอาหารที่ทำเองในฟาร์มที่มีอัตราแลกเนื้อต่ำกว่า ต้องเอาให้กับสัตว์ในปริมาณมากกว่าเพื่อให้ได้ผลใกล้เคียงกัน เป้าหมายต่อไปที่ควรทำคือการพัฒนาอัตราแลกเนื้อของอาหารสัตว์ที่ทำเองในฟาร์มด้วยการเพิ่มหรือทดแทนส่วนผสมอื่นที่มีคุณภาพสูง

ข้อแนะนำ

เมื่อมองผ่านๆ ผลที่ได้นี้แสดงให้เห็นว่าอาหารสัตว์ที่ซื้อมาน่าจะดีกว่าและเกษตรกรต้องใช้ต้นทุนที่สูงกว่าในการผลิตอาหารสัตว์เอง แต่เรามีความรู้สึกว่าวิธีนี้ยังถือเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลที่อาจหาซื้ออาหารสัตว์ได้ยาก นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างมากเนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมเพิ่มหรือทดแทนมีระบุไว้เป็นส่วนผสมที่ซื้อมาจากรายการข้างต้น

มีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้เลี้ยงสุกรจะเริ่มทดแทนส่วนผสมของอาหารที่ระบุไว้ด้วยวัตถุดิบและทรัพยากรที่มีอยู่ในฟาร์ม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรที่กำลังผลิตวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นรำข้าว ข้าวโพดป่น หรือแม้แต้เศษปลา หากวัตถุดิบในส่วนผสมเหล่านี้ ถ้าหนึ่งอย่างหรือหลายอย่างสามารถผลิตได้จากฟาร์มในต้นทุนที่ต่ำกว่าไปซื้อมา ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้โดยรวมอาจมากกว่าการใช้อาหารที่ซื้อมาจากท้องตลาด และกลายเป็นผลกำไรมากขึ้น

ช่องทางที่เป็นไปได้ที่ใหญ่ที่สุดที่จะเพิ่มผลกำไรได้มากที่สุดคือการขายสุกรที่เลี้ยงด้วยอาหารจากฟาร์มเป็นสุกร “ออร์แกนิค” หรือ “ธรรมชาติ” หากเนื้อสุกรแบบนี้เป็นที่ต้องการ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเพิ่มอัตรากำไรหากทำการผลิตหรือมีใบรับรองตามข้อกำหนด

เรายอมรับว่าสถานที่ตั้งของฟาร์มเอคโคของเราอยู่บริเวณชานเมืองของเมืองหลักที่สามารถเข้าถึงวัตถุดิบต่างๆได้ทุกเมื่อ เช่นรำข้าวและปลาป่น และเราเข้าใจว่าเกษตรกรรายย่อยในที่สูงอาจหาวัตถุดิบเหล่าได้ยาก สูตรส่วนผสมของอาหารที่ใช้ในฟาร์มเอคโค่ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวและควรนำไปใช้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสูตรอาหารสัตว์ที่ผลิตขึ้นเองจากวัตถุดิบในฟาร์ม เราขอแนะนำให้คุณค้นหาแหล่งวัตถุดิบเฉพาะที่มีอยู่ในพื้นที่ และทำการทดลองกับวัตถุดิบที่คุณสามารถหามาได้ หากมีรายการวัตถุดิบส่วนผสมใดที่หาไม่ได้หรือราคาแพงเกินไป ก็สามารถใช้วัตถุดิบอย่างอื่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ มีตัวเลือกวัตถุดิบโปรตีนสูงมากมายที่มีอยู่เช่น มะพร้าวป่น ถั่วเหลืองป่น แมลงป่น กระดูกป่น แหนแดง (Azolla caroliniana), ผักบุ้ง (Moringa oleifera), กรดอะมิโนจากปลา (FAA) และอื่นๆ

อย่าลืมด้วยว่าการเปลี่ยนจากการใช้อาหารที่ซื้อมาจากท้องตลาดมาใช้อาหารที่ทำเองนั้นอาจเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการผสมอาหารทั้งสองประเภทน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะใช้ทั้งสองวิธีพร้อมกันและเสริมด้วยอาหารแบบใดแบบหนึ่งกับอีกวิธีเลี้ยงหนึ่ง การแบ่งครึ่ง 50-50 ระหว่างอาหารที่ซื้อมาและอาหารที่ทำเอง หรือการใช้ทั้งสองอย่างด้วยกันเป็นทางเลือกที่ดีที่ควรพิจารณาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้อาหารที่ทำขึ้นเองอย่างเคร่งครัดอาจนำไปสู่ทางเลือกอื่นที่อาจยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการขายสุกรไปยังตลาดสุกร “อินทรีย์” หรือ “ธรรมชาติ” อาจมีศักยภาพในการฉุดราคาให้สูงขึ้นได้

ข้อสรุปต่อไปนี้ (ภาพที่ 4) เป็นข้อดีและข้อเสียของการใช้อาหารทั้งสองแบบ:

AN 42 Pig Feed Fig4 THAI
ภาพที่ 4 สรุปข้อดีและข้อเสียในการใช้อาหารที่ทำเองจากวัตถุดิบในฟาร์มเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ในฟาร์มเกษตรกรรายย่อย

คำกล่าวขอบคุณ

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ช่วยเหลือในการเก็บรวมรวมข้อมูลและให้อาหารสุกรเป็นประจำทุกวัน

ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณแสง, ปอ, เอิร์ท, แอนนี่ และเอลิซาเบ็ธ ที่เป็นผู้เขียนเพิ่มเติมจากรายชื่อข้างต้น!

อ้างอิง

Mikkelson, O. 2019. Integrating Hogs into the Smallholder Farm and the Creation of Hog Feed. In: Animal Integration & Feeding Strategies on the Tropical Smallholder Farm. pp. 41-55. ECHO Asia Impact Center, Chiang Mai, Thailand