โดย: เค็น ทอมป์สัน


This article is from ECHO Asia Note #28 บทความนี้มาจาก สารเอคโค ฉบับที่ 28

[บก.: คุณเค็น เป็นมิชชันนารีจากองค์กร Church Mission Society ประเทศออสเตรเลีย คุณเค็นและครอบครัวอาศัยและทำงานอยู่ที่จังหวัดมณฑลคีรีมาเป็นเวลา 11 ปี คุณเค็นทำงานด้านการเกษตรหลายอย่างรวมถึงปัญหาของสุขภาพสัตว์ในชุมชนคนพื้นเมืองในจังหวัด โดยในเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้ทำงานกับคริสตจักรท้องถิ่นชื่อว่า KEC (Khmer Evangelical Church) เพื่อก่อตั้งศูนย์ Ntuk Nti ซึ่งเป็นศูนย์แหล่งเรียนรู้ขนาดเล็กบนพื้นที่ของคริสตจักร ตั้งอยู่ในเมืองแสนมโนรม จังหวัดมณฑลคีรี] 

บทนำ

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเกษตรกรและนักศึกษาวิจัยที่อยู่ในเขตร้อน ในจังหวัดมณฑลคีรี น้อยมากที่เกษตรกรจะสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ให้อยู่นานเกิน 6 เดือน คือช่วงระหว่างเก็บเกี่ยวเสร็จถึงฤดูเพาะปลูกใหม่ เมล็ดที่เก็บไว้นานเกินกว่านั้นมักจะเจอความชื้นในบรรยากาศช่วงฤดูฝนทำให้ปลูกไม่ขึ้น หรือไม่ก็เกิดความเสียหายจากแมลงที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและกัดกินเมล็ดจนเสียหาย ที่ศูนย์แหล่งเรียนรู้ของเรา เราต้องการเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์หลายชนิดที่มีประโยชน์โดยไม่ต้องนำเมล็ดแต่ละชนิดออกมาปลูกทุกปี แต่ก็พบปัญหาคล้ายกับเกษตรกรคือเมล็ดพันธุ์ของเราแม้เก็บไว้ไม่นานก็มักจะปลูกไม่ค่อยขึ้นหรือไม่ก็ถูกแมลงกัดกินขณะที่เก็บรักษาไว้  

การแช่เย็นหรือแช่แข็งเมล็ดพันธุ์ที่มีอายุการเก็บนาน (Orthodox Seeds) เป็นวิธีการที่รู้จักกันดีอยู่แล้วที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์เก็บไว้ได้นาน (ดูสารเอคโคเอเชีย ฉบับที่ 14 “การปิดผนึกสุญญากาศและการแช่เย็น”) แต่วิธีนี้อาจนำไปใช้ได้ยากในเขตจังหวัดมณฑลคีรีที่ไม่ค่อยมีไฟฟ้าเข้าถึง และถึงมีไฟฟ้าก็ดับบ่อยและราคาแพง โดยความร่วมมือกับเอคโคเอเชียและเงินทุนสนับสนุนจากโครงการเพรสไบทีเรียน ฮังเกอร์ โปรแกรม เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ Ntuk Nti จึงได้ทำงานศึกษาวิจัยในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อออกแบบและทดสอบวิธีการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ในบทความนี้เราจะแบ่งปันผลจากการศึกษาซึ่งเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เคยทำมาโดยไม่ใช้ไฟฟ้า เป็นวิธีการที่เกษตรกรที่ยากจนที่สุดและอยู่ห่างไกลที่สุดก็สามารถนำไปใช้ได้ 

การตากแห้ง 

ถ้าจะเก็บเมล็ดไว้นานเกินหนึ่งปี เมล็ดพันธุ์จะต้องมีค่าความชื้นที่ 10% หรือน้อยกว่า ซึ่งจะต้องอาศัยวิธีการตากแห้งอย่างดีก่อนทำการเก็บรักษา แม้จะมีหนังสือและบทความมากมายเตือนให้ระวังการตากเมล็ดในแดดโดยตรงแต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับเกษตรกรที่ยากจนในเขตร้อน การตากเมล็ดโดยเกลี่ยเมล็ดให้ทั่วๆในที่ร่มจะช่วยลดความชื้นในเมล็ด แต่ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ในช่วงกลางวันมากกว่า 60% เมล็ดพันธุ์หลายชนิดถ้าตากในร่มจะไม่แห้งพอที่จะนำไปเก็บได้ จากการวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ของเราที่จังหวัดมณฑลคีรี พบว่าช่วงเวลาที่ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 60% หรือน้อยกว่านั้นเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปีและจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆระหว่างกลางวัน เมล็ดที่เก็บมาใหม่ที่ตากไว้ในร่มไม่ค่อยจะตากได้แห้งพอที่จะเก็บไว้เป็นระยะเวลานานได้ ในทางตรงกันข้ามคือเราประสบความสำเร็จในการตากเมล็ดกลางแดดจนเหลือความชื้นที่ 9% แม้ในช่วงระหว่างหน้าฝน! ซึ่งวิธีการทำคือใส่เมล็ดไว้ในถาดแล้ววางไว้กลางแดดประมาณ 3 ถึง 4 แดดในวันที่แดดออกเต็มที่ ระหว่างที่เมล็ดยังไม่ถูกนำออกไปตากเราจะเก็บเมล็ดไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดดูดความชื้นจากบรรยากาศที่ชื้นในช่วงกลางคืนและตอนเช้ามืดซึ่งเป็นช่วงที่มีแนวโน้มว่าจะมีความชื้นสัมพัทธสูงสุด (ส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่กล่าวมาจะมีความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90%)  

มีข้อเขียนมากมายที่เตือนถึงข้อเสียของการตากเมล็ดไว้กลางแดดที่อุณหภูมิมากกว่า 36 องศาเซลเซียส แต่ที่ศูนย์ Ntuk Nti เราบันทึกอุณหภูมิที่เมล็ดธัญพืชและเมล็ดผักหลายชนิดที่ตากไว้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และไม่มีผลที่แสดงให้เห็นว่าอัตราการงอกจะลดลง ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะชนิดของเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นเราจึงต้องคอยเฝ้าระวังอยู่โดยเฉพาะกับเมล็ดพันธุ์ผัก เราคิดว่าความเร็วในการตากแห้งน่าจะมีส่วนทำให้เมล็ดเสียหายมากกว่าอุณหภูมิขณะตาก ความเร็วในการตากแห้งมีปัจจัยมาจากอุณหภูมิ, ลม, และความชื้นสัมพัทธ์ขณะกำลังตาก เมล็ดที่ตากแดดในฤดูร้อนจะแห้งเร็วมากทำให้เมล็ดเกิดความเสียหาย ขณะที่ในเขตร้อนนั้นความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงจะเป็นตัวกำหนดอัตราการแห้ง ที่ศูนย์Ntuk Nti เราถือปฏิบัติกันที่จะนำเมล็ดที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ (มีความชื้น 16% หรือมากกว่านั้น) แล้วตากไว้ในร่มเป็นเวลา 2-3 วัน วิธีนี้จะทำให้เมล็ดแห้งลงอย่างช้าๆจึงไม่เป็นการทำลายเซลของเมล็ด จากนั้นเราจะจบขบวนการตากด้วยการนำเมล็ดไปตากกลางแดดเพื่อให้ได้ความชื้นที่ 10% (หรือต่ำถึง 7% สำหรับเมล็ดบางชนิด) โดยไม่ทำให้เมล็ดเสียหาย เราใช้เครื่องวัดความชื้นสำหรับการศึกษาวิจัยของเรา แต่เกษตรกรอาจบอกได้ว่าถึง 10% หรือยังด้วยการใช้ฆ้อนตีเมล็ดแล้วเมล็ดแตกออก สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการตากแห้งเมล็ด ท่านสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่สาร EDN 109 ที่บทความภาษาอังกฤษชื่อว่า “ความชื้นในเมล็ดและหลักการตากแห้งเมล็ด (Seed moisture and drying principles) ”, Danida Forest Seed Centre, Stubsgaard F, & Poulsen K (1995) 

ภาชนะที่ใช้เก็บเมล็ด 

เมื่อตากแห้งเมล็ดพันธุ์ได้ตามที่ต้องการแล้ว จะต้องทำการป้องกันเมล็ดจากความชื้นในอากาศซึ่งจะทำให้เมล็ดดูดความชื้นเข้าไปได้อีก ในครั้งแรกๆนั้นเราใช้กระป๋องนมผงหรือไมโลเก็บเมล็ดพืชที่มีปริมาณมาก และใช้ภาชนะพลาสติกใส่เครื่องเทศหรือขวดยาขนาดเล็กใส่เมล็ดที่มีปริมาณไม่มาก อย่างไรก็ตามภาชนะเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันความชื้นจากภายนอกได้ดีพอ! เราจึงใช้ขวดแยมหรือขวดของดองที่เป็นแก้วและที่ฝาปิดมีขอบยางสะอาดซึ่งใช้ได้ผลดีกว่ามาก และยังสามารถปิดสนิทดีถ้าฝาถูกความร้อนก่อนนำไปปิดปากขวด อีกทางเลือกหนึ่งคือถุงซิปล็อค แต่ต้องใส่ไว้ในกระป๋องที่มีฝาปิดสนิทอีกที เพราะถุงนี้อาจถูกแมลงสาบ มด หรือหนูกัดถุงแล้วเมล็ดก็จะถูกความชื้นจากอากาศภายนอกได้ แต่ถึงแม้จะเอาถุงเมล็ดใส่ในกระป๋องไว้แล้ว ยังมีตัวมอดที่สารมารถเล็ดรอดเข้าไปกัดเจาะถุงพลาสติกได้! 

ในชุมชนที่อยู่ห่างไกลของเรา กระป๋องขนาดใหญ่ หรือขวดแยมหาไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาดูว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ เราจึงทดสอบกับขวดซอสและกระป๋องเบียร์สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ปริมาณน้อย และเราลองใช้ถังน้ำมันสำรองหรือถังน้ำมันแบบพกพาเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ปริมาณมาก พวกขวดซอสและกระป๋องเบียร์นั้นเราสามารถเก็บได้ฟรีจากที่ทิ้งขยะแล้วนำมาปิดรูด้วยจุกยางหรือแผ่นยางกลมๆที่ทำมาจากยางในรถแล้วปิดทับด้วยเทปกาวพันสายไฟ ส่วนถังน้ำมันสำรองนั้นมีขายอยู่ทั่วไปและราคาไม่แพง เมื่อซื้อมาใหม่ๆ ถังน้ำมันสำรองนี้จะมีซีลหรือขอบยางที่ใช้งานได้ดี และเมื่อเก่าไปก็สามารถุใช้ถุงพลาสติกพับเป็นสองชั้นวางไว้ที่ปากแล้วค่อยหมุนฝาปิดทับลงไปให้แน่น ทั้งขวดและถังน้ำมันจะมีส่วนฝาที่แคบที่ต้องใช้กรวยช่วยเมื่อต้องการใส่เมล็ดเข้าไป แต่ก็ถือเป็นข้อดีเพราะง่ายต่อการปิดฝาให้แน่นหนา นอกจากนี้เมื่อเราเปิดเพื่อเอาเมล็ดส่วนหนึ่งออกมา ส่วนที่เหลือก็จะมีโอกาสน้อยที่จะถูกความชื้นจากภายนอก เราเก็บข้าวและถั่วจำนวนมากไว้ในถังน้ำมันนี้เป็นเวลา 2 ปีในสภาพของอุณหภูมิห้องและพบว่าอัตราการงอกของเมล็ดไม่ได้ลดลง  

ถังหรือภาชนะที่เก็บเมล็ดนี้จะต้องเก็บไว้ให้พ้นแสงแดดและเก็บไว้ในบริเวณที่เย็นที่สุดเท่าที่จะหาได้เพื่อยืดอายุการเก็บ และยังช่วยคงอัตราการงอกและรักษาคุณภาพของเมล็ดเมื่อนำไปปลูก 

การลดปริมาณออกซิเจน  

เมื่อทำการเก็บเมล็ดแห้งไว้ในภาชนะปิดที่เหมาะสมแล้ว เมล็ดจะสามารถเก็บไว้ได้ 3 ปีหรือมากกว่านั้นโดยความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ยังอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ตัวมอดหรือแมลงอื่นๆจะมากัดกินเมล็ดและแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถแก้ไขได้ แมลงเหล่านี้จะกินเมล็ดและเกิดขบวนการหายใจที่เป็นที่มาของความชื้นและในที่สุดจะทำให้เมล็ดเน่าเสียได้ เราพบว่าปัญหาเรื่องแมลงจะลดน้อยลงเมื่อทำการเก็บเกี่ยวเมล็ดในเวลาที่เหมาะสม นำไปตากแห้งและเก็บทันทีโดยใส่ไว้ให้เต็มในภาชนะ แต่ถ้าเกิดการล่าช้าในขบวนการหรือมีการนำเมล็ดมาจากที่อื่นเมล็ดก็อาจถูกแมลงกัดกินไปแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าเมล็ดเหล่านี้จะไม่น่าเสียระหว่างการเก็บรักษา เราต้องลดปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในภาชนะเพื่อแมลงจะไม่สามารถหายใจและขยายพันธุ์ได้ 

วิธีการหนึ่งที่ง่ายและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการหาภาชนะที่มีปริมาตรพอดีกับปริมาณเมล็ดพันธุ์เพื่อเมื่อบรรจุเมล็ดพันธุ์ในภาชนะแล้วจะเต็มพอดี อาจต้องเคาะก้นภาชนะลงกับพื้นขณะเติมเมล็ดเพื่อให้เมล็ดบรรจุอัดแน่นขึ้น และเติมให้เต็มมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการนี้จะเป็นการจำกัดปริมาณอากาศในภาชนะได้ทันที  

การลดปริมาณออกซิเจนสามารถทำได้หลายวิธี ช่องว่างระหว่างเมล็ดอาจคำนวนได้อยู่ที่ 40% ถึง 60% (หรืออาจมากกว่านี้) ของปริมาตรของภาชนะ โดยขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดพันธุ์ เราสามารถลดปริมาตรอากาศนี้ลงครึ่งหนึ่งด้วยการใช้ทรายแห้งละเอียด, ขี้เถ้าจากไม้ หรือผงปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ซื้อมาใหม่เติมเข้าไปในช่องว่างเหล่านี้ โดยเติมลงด้านบนของภาชนะที่ใส่เมล็ดจนเกือบเต็มแล้ว ให้คอยเคาะภาชนะกับพื้นอยู่ตลอดจนกระทั่งล้นออกมาและไม่มีที่ว่างเหลืออยู่เลยในภาชนะ วิธีนี้สามารถนำไปใช้ได้เมื่อต้องการเติมภาชนะให้เต็มถ้าเมล็ดพันธุ์ในภาชนะนั้นมีปริมาณไม่มากพอ โดยที่วัสดุเหล่านี้ต้องสะอาดและแห้งสนิท (อาจต้องทำการฆ่าเชื้อที่อยู่ในทรายในเตาอบก่อน) จากการทดสอบของเราพบว่าวัสดุเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อเมล็ดพันธุ์และสามารถใช้ควบคุมป้องกันแมลงได้เป็นอย่างดี

มีอีกวิธีหนึ่งที่อาจจะยุ่งยากกว่านิดหน่อย (แต่เลอะเทอะน้อยกว่า) คือการทำให้ภายในขวดหรือภาชณะที่บรรจุเมล็ดเต็มแล้วเป็นสูญญากาศ การใช้สูบลมสามารถลดความดันอากาศในภาชนะได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความดันในบรรยากาศ ซึ่งหมายความว่าการใช้สูบสามารถลดปริมาณออกซเจนในภาชนะได้ครึ่งหนึ่ง 

AN 28 Seed Fig 1
ภาพที่ 1: อุปกรณ์ดูดอากาศราคาประหยัด 3 อย่างที่ใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปในเขตชนบทของประเทศกัมพูชา: A) สูบสูญญากาศใช้ท่อพีวีซีและไม้ไผ่; B) สูบสูญญากาศไซริงค์หรือกระบอกฉีดยา; และ C) สูบสูญญากาศดัดแปลงจากที่สูบลมล้อจักรยาน

วิธีง่ายที่สุดในการทำสูบสูญญากาศคือการใช้ที่สูบลมล้อจักรยาน โดยดึงลูกสูบออก กลับด้านจุกยาง ตัดส่วนปลายของกระบอกสูบออกแล้วใส่ลูกสูบกลับเข้าไปพร้อมกับเอาตัวสปริงออก (ภาพที่ 1C) วิธีนี้จะได้สูบสูญญากาศที่ใช้งานได้ดีมากในราคาเพียง 150 กว่าบาท ส่วนปากสูบสามารถต่อเข้ากับขวดหรือฝาภาชนะขนาดใหญ่ที่ใส่เมล็ดเต็มแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในเขตชนบทของกัมพูชา สูบลมจักรยานทั่วไปมีวาล์วที่ซับซ้อนกว่าแบบที่มีจุกยาง จึงทำให้การดัดแปลงยากขึ้น ดังนั้นเราจึงคิดค้นสูบสูญญากาศอีกสองแบบที่ทำได้ง่ายกว่า  

แบบแรกใช้อุปกรณ์หลักคือกระบอกฉีดยาหรือไซริงค์แบบใช้แล้วทิ้งขนาด 60 มล. (ภาพที่ 1B)  ตัดปลายกระบอกฉีดยาออกให้เรียบและเสมอกัน แต่กระบอกฉีดยานี้ ตัวลูกสูบไม่มีวาล์วระบายลมอยู่ เราจึงต้องทำขึ้นมาเองด้วยการเจาะรูเล็กๆจากปลายกระบอกด้านล่างขึ้นมา 1 ซม. แล้วปิดรูด้วยยางในรถจักรยานที่ไม่ใช้แล้วตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ใช้เทปพันสายไฟปิดทับให้แน่นรอบกระบอกโดยให้ด้านหนึ่งของยางในยื่นออกมาจากใต้เทป ไซริงค์ 60 มล.ใช้แล้วทิ้งนี้มีราคาที่ประมาณอันละ 15 บาท หากท่านต้องการศึกษาเพิ่มเติม สามารถรับชมวิดีโอการทำสูบสูญญากาศจากไซริงค์ได้ที่ช่อง  YouTube  ของเอคโค เอเชียได้

ส่วนสูบอีกชนิดหนึ่งทำมาจากท่อพีวีซี 8.5 ขนาด 35 มม. ยาว 80 ซม. (ภาพที่ 1A) ท่อนี้จะมีขนาดพอดีกับจุกยางของสูบลมที่มีขายในร้านอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป จุกนี้สามารถใช้สกรูยึดติดกับปลายไม้ไผ่ โดยใช้สกรูหลังคา นำจุกยางแช่ในน้ำมันเครื่อง แล้วใส่เข้าไปในท่อ ส่วนวาล์วระบายลมสามารถทำได้เองด้วยการเจาะรูเล็กๆใกล้ๆกับปลายท่อแล้วตัดยางในรถเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆปิดทับไว้ ด้านยางที่ยื่นออกมาสามารถพับลงเข้ากับส่วนปลายทำให้กลายเป็นผนึกที่แน่นหนา ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับสูบสูญญากาศแบบนี้อยู่ที่ประมาณ 30 กว่าบาท  

AN 28 Fig 2
ภาพที่ 2: แผ่นผนีกยางของสูบสูญญากาศสำหรับ A) ภาชนะที่มีฝาขนาดใหญ่,  B) ภาชนะที่มีฝาขนาดเล็ก

สูบทั้งสามแบบนี้มีลักษณะการทำงานแบบาเดียวกัน ในส่วนของขวดภาชนะที่บรรจุเมล็ดนั้นให้ทำวาล์วทางเดียวที่ฝาของภาชนะด้วยการเจาะรูเล็กๆที่ฝาแล้วใช้เทปพันสายไฟตัดเป็นชิ้นเล็กๆวางลง ใช้ยางในรถทำเป็นที่ปิดผนึกเสริมไว้อีกอันหนึ่ง (ภาพที่ 2) ขวดแยมและถังน้ำมันจะมีฝาที่มีขนาดใหญ่กว่าสูบดังนั้นให้ใช้ยางในที่ตัดรูตรงกลางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม.วางด้านบนฝา ให้รูของวาล์วทางเดียวตรงกลาง (ภาพที่ 2A) กดปลายสูบให้ติดแน่นกับยางในขณะสูบเพื่อทำการผนึกฝา สำหรับขวดแก้วที่ปากขนาดเล็ก ให้สวมแผ่นยางในให้ติดแน่นกับปากขวดในตำแหน่งที่ปากสูบติดแนบกับยางบนปากขวดนั้นขณะสูบลม เพื่อทำการผนึกฝา (ภาพที่ 2B)

วิธีที่จะให้เกิดสภาพสูญญากาศสูงสุด สำหรับขวดขนาดเล็ก ถ้าสูบที่ใช้เป็นสูบใหญ่ให้ดึงอากาศออกเพียง 2 หรือ 3 ครั้งเท่านั้น แต่ถ้าเป็นสูบที่ทำจากไซริงค์ให้สูบอากาศออก 6 ครั้งหรือมากกว่านั้น เมื่อถึงจุดสูงสุดของสภาพสูญญากาศ จะมีแรงต้านที่รู้สึกได้ชัดเจนและลูกสูบจะเคลื่อนกลับลงอย่างรวดเร็วเมื่อปล่อยสูบออก การสูบอากาศออกจนถึงจุดนี้ ความดันอากาศในขวดจะอยู่ต่ำกว่าความดันภายนอกที่ประมาณ 20 นิ้วปรอท (ภาพที่ 3) 

เมื่อใช้สูบกับปากขวดขนาดเล็กกว่าจะได้ผนึกที่ดีกว่าการใช้สูบกับปากขวดแยมหรือถังน้ำมันที่ปากขนาดใหญ่ ถ้าฝาขวดเดิมหายหรือปิดไม่แน่นเหมือนเดิม ให้ใช้ยางในแบบหนาตัดเป็นขนาดกลมเท่ากับปากขวด เอาน้ำมันทาด้านล่างแล้วใช้เทปติดยึดไว้ให้ตรงตำแหน่งปากขวด โดยเหลือช่องว่างเล็กๆระหว่างเทปเพื่อให้ลมผ่านออก (ภาพที่ 2B) การเติมเมล็ดให้เต็มขวดจะช่วยรองรับไม่ให้แผ่นยางถูกดูดเข้าไปในขวดถ้าเป็นแผ่นยางที่ไม่หนามาก 

AN 28 Fig 3
ภาพที่ 3: เครื่องวัดความดันอากาศตรวจวัดความดันบรรยากาศสัมพัทธ์ของภาชนะบรรจุที่ทำการสูบสูญญากาศแล

 

 

คาร์บอนไดออกไซด์ฟลัช CO2Flushing (หรือการทดแทนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์)  

วิธีที่สามในการลดปริมาณออกซิเจนที่เราได้ทำการทดลองคือการทดแทนออกซิเจนทั้งหมดในภาชนะด้วยก๊าซชนิดอื่น วิธีการนี้จะทำให้ภายในภาชนะแทบจะไม่เหลือออกซิเจนเลยจนทำให้แมลงหายใจไม่ได้และตายไปอย่างรวดเร็ว วิธีการนี้นำไปใช้ในการรมควันเมล็ดขนาดใหญ่ในโกดัง และธนาคารเมล็ดพันธุ์บางแห่งใช้วิธีนี้เป็นประจำ คือการพ่นเมล็ดทั้งหมดด้วยก๊าซไนโตรเจนบริสุทธิ์หรือก๊าซบริสุทธิ์ชนิดอื่นเพื่อแมลงจะขาดออกซิเจนและตายไปในที่สุด

สำหรับในชุมชนที่มีเงินทุนไม่มาก สามารถใช้คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซชีวภาพที่ทำได้โดยง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ จากการทดลองของเรา เราเก็บสะสมคาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์ได้จากสารละลายน้ำตาลหมักด้วยยีสต์ (ภาพที่ 4) เราจะค่อยๆใส่คาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในขวดที่มีเมล็ดใส่เต็มอยู่ด้วยหลอดพลาสติก และเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์หนักกว่า ออกซิเจนก็จะถูกดันออกมาทางปากขวด ท่านสามารถรับชมวิดีโอการทำคาร์บอนไดออกไซด์ฟลัชได้ที่ช่องยูทูปของเอคโคเอเชียที่ https://www.youtube.com/watch?v=P-e-LGXdv_0&feature=share  เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เป็นเวลา 6 เดือนในอุณหภูมิ 24°C ไม่สูญเสียความมีชีวิตเมื่อเทียบกับอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเก็บรักษาและเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาในบรรจุภัณฑ์สูญญากาศ (ในถุงฟอยล์ปิดผนึกด้วยเครื่องแพ๊คสูญญากาศ) เราได้ทดลองวิธีนี้กับเมล็ดพันธุ์หลายชนิดและได้ผลออกมาดี แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าจะปลอดภัยในการใช้วิธีการเหล่านี้กับเมล็ดที่มีอายุการเก็บนาน Orthodox Seeds) ได้ทุกชนิดหรือไม่ นอกจากนี้ ถ้าใช้วิธีการนี้ เมล็ดจะต้องแห้งสนิทก่อนที่จะอัดด้วยคาร์บอนไซด์ และควรใช้วิธีนี้ด้วยความระมัดระวังและทำการทดลองด้วยตนเองก่อนที่จะนำไปเผยแพร่วิธีการให้กับเกษตรกรคนอื่น  

AN 28 Fig 4
ภาพที่ 4: ยีสต์ทำให้เกิด CO2ในขวด C ซึ่งนำไปเก็บไว้ในภาชนะ B และแทนที่น้ำในภาชนะ A สำหรับการทำคาร์บอนไดออกไซด์ฟลัซ ภาชนะ C ถูกแทนที่ด้วยภาชนะที่ใส่เมล็ดพันธ์ุที่จะเก็บไว้จนเต็ม และเติมนำ้ในภาชนะ A ซึ่งจะด้นน้ำให้เข้าไปในภาชนะ B ให้แทนที่ CO2 ที่จะถูกกันเข้าไปในภาชนะ C

นอกจากนี้ เรายังได้ทดลองวิธีการแทนที่ก๊าซนี้กับก๊าซชีวภาพ (ซึ่งมักจะประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50% และก๊าซมีเทน 50%) และเมล็ดที่เก็บรักษาด้วยวิธีนี้ก็อยู่ในสภาพที่ดี การใช้ก๊าซชีวภาพนี้อาจเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำไปใช้กับการรมควันเมล็ดพันธุ์ปริมาณมากโดยเป็นที่วิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะขณะนี้ฟาร์มหลายแห่งในประเทศกัมพูชามีชุดผลิตพลังงานจากก๊าซชีวภาพจากการย่อยมูลสุกร แต่เรื่องนี้คงต้องทำการศึกษาต่อไปอีกเพราะแหล่งที่มาของก๊าซชีวภาพบางแห่งอาจประกอบไปด้วยไฮโดรเจนซัลไฟด์(H2S)ในระดับที่เป็นอันตราย 

การทดลองที่ทำอยู่ในปัจจุบัน 

นอกจากการป้องกันแมลงที่จะมากัดกินเมล็ดพันธุ์แล้ว การลดปริมาณออกซิเจนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีมากในการยืดอายุการเก็บเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเป็นการลดอัตราการเผาผลาญอาหารของเมล็ดและของจุลินทรีย์ที่อาจเกิดขึ้น  ทั้งนี้เราได้ทำการทดลองในระยะยาวเพื่อเปรียบเทียบวิธีการที่กล่าวมาทั้งหมด รวมถึงอีกวิธีหนึ่งที่เป็นวิธีใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนคือการใช้เม็ดดูดความชื้นซีโอไลท์และการใช้ CALGLY (CaCl2 in glycerol) ซึ่งเป็นของของเหลวที่ทำมาจากแคลเซียมคลอไรด์และกลีเซอรอล วิธีการเหล่านี้ใช้ได้ดีแต่เราได้มีเวลาทำการทดลองการงอกที่เวลา 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่เท่านั้น เมื่อเราได้ผลอย่างไรในเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้าเราจะได้ให้คำแนะนำได้เจาะจงมากยิ่งขึ้นว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเก็บรักษาเมล็ดได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น  

อย่าลืมว่าวิธีการใช้เม็ดดูดความชื้นซีโอไลท์และ Calgly เป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับเกษตรกรที่มีฐานะยากจนเพราะมีราคาแพง รวมถึงมีขั้นตอนการใช้ที่ซับซ้อนกว่าวิธีอื่นที่อธิบายมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่สนใจทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล เราจะพูดถึงประสบการณ์ของเราในการใช้ซีโอไลท์และCalgly ในบทความครั้งต่อไป 

สรุป 

กุญแจสู่ความสำเร็จในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในเขตร้อนที่ไม่มีการแช่เย็นคือการทำให้เมล็ดแห้งสนิทก่อนที่จะเก็บ จากการทดลองที่เราได้ลงมือปฏิบัติแสดงให้เห็นว่าความพยายามและการใส่ใจเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เมล็ดพันธุ์ที่อายุยาวยืดอายุการเก็บออกไปได้อีกโดยการใช้วิธีตากแห้งทั้งในร่มและกลางแดด ขวดแก้วและขวดพลาสติกหนาๆที่ปิดฝาสนิทจะเก็บรักษาให้เมล็ดแห้งและป้องกันเมล็ดจากแมลงที่จะมากัดกิน การใช้วิธีการใดก็ตามใน 3 วิธีที่แนะนำไว้เกี่ยวกับการลดปริมาณออกซิเจนจะทำให้ยิ่งมั่นใจได้ว่าแมลงจะไม่สามารถแพร่พันธุ์ในเมล็ดที่เราเก็บไว้ และวิธีการทั้งหมดสามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ไม่แพง  

อ่านเพิ่มเติม 

ในสาร EDN 126, อับราม บิคส์เลอร์ได้อธิบายการทดลองคล้ายกันนี้เพื่อเปรียบเทียบการใช้สูบลมรถจักรยานกับวิธีการเก็บแบบอื่น เป็นบทความที่เป็นประโยชน์มาก นอกจากนั้น เราได้มีการดัดแปลงสูบลมนี้ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสม สะดวก และปลอดภัยต่อการใช้งานมากขึ้น และในบทที่ 7 ขององค์การ FAO หัวข้อ “A Guide to Forest Seed Handling” (ข้อแนะนำในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จากป่า) มีข้อมูลที่ดีมากเกี่ยวกับความซับซ้อนในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ที่เว็บไซท์ http://www.fao.org/docrep/006/ad232e/ad232e07.htm 


ภูมิภาค

Asia