โดย: Gene Fifer (edited by Gabe LePage)


This article is from ECHO Asia Note # 38. สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มภาษาไทยได้ที่ปุ่มดาวน์โหลดด้านขวา

ปรับจากบทความที่เขียนโดยจีน ไฟเฟอร์ Gene Fifer 

ผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ความรุนแรงหรือการบีบบังคับที่ทําให้เกิดการละถิ่นฐานเพื่อหลบหนีจากอันตรายกําลังเพิ่มขึ้นท่ัวทุกแห่งในโลก ในอัตราเฉลี่ยต่อวัน มีผู้คนจํานวน 44,000 คนที่พลัดถิ่นฐานและแสวงหาที่ลี้ภัยภายในประเทศของตนเอง ไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน หรือในต่างทวีป แค่เพียงในปี   2017 มีผู้ลี้ภัย 1.2 ล้านคนที่หนีจากเมียนมาร์, 6.3 ล้านคนหนีจากซีเรีย และ 2.6 ล้านคนหนีจากอัฟกานิสถาน ตัวเลขทั้งหมดของผู้ที่ละถิ่นฐานได้แก่ ผู้อพยพ 25.4 ล้านคน (เช่นผู้ที่ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ), ผู้ลี้ภัย 3 ล้านคนที่กําลังแสวงหาที่ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศอื่น (หรือที่เรียกว่าผู้ลี้ภัย ทางการเมือง) และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 40 ล้านคน จํานวนร้อยละ 85 ของตัวเลขนี้คือผู้ที่หลบหนีจากความรุนแรง ไปยังประเทศกําลังพัฒนาหรือในพื้นที่ ที่ประชากรกําลังดิ้นรนกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารและความยากจน และ นอกจากนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้อพยพมีอายุตำ่กว่า 18 ปี (UNHCR, 2018)

[บรรณาธิการ:  บทความนี้ต้องการพูดถึงปัญหากว้างๆของความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัย ที่มีอยู่หลายแห่งในภูมิภาคเอเชีย โดยการนำเสนอทางเลือกที่นำไปปฏิบัติได้จริงที่สามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาความต้องการด้านโภชนาการที่หลากหลายในบริบทที่ท้าทายนั้น ท่านสามารถส่งคำถามเพิ่มเติมหรือความคิดเห็นกลับมายังผู้เขียนได้ที่ etf26@cornell.edu

AN 38 Ref Fig1
ภาพที่ 1: ค่ายผู้ลี้ภัยซาตารี ประเทศจอร์แดน. ที่มาของภาพ (UNHCR Photo Unit, Creative Commons Attribution License)

 

ผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 

ความรุนแรงของวิกฤตการอพยพไปไกลจนถึงขั้นที่มีจำนวนประชากร 68 ล้านคนที่ถูกจัดให้เป็นผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอันเนื่องมาจากความหิวโหย ความยากจน และการขาดโอกาส โดยที่ยังไม่รวมประชาชนที่หลบหนีจากความรุนแรงทางอาชญากรรมและกลุ่มอันธพาลในประเทศบ้านเกิดของตน,  จากความแห้งแล้งและขาดอาหาร, การถูกยึดที่ดินและบังคับให้ย้ายออก, และ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (FAO et al., 2018) ประชาชนหลายร้อยล้านคนกำลังเดินทางแสวงหาความปลอดภัย อาหาร และโอกาส ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น ตัวเลขของผู้อพยพระหว่างประเทศทั้งหมดมีมากกว่า 257 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2017 (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น)  

เมืองจำเป็นตามพื้นที่ชายขอบ 

ค่ายผู้ลี้ภัยส่วนมากมักตั้งอยู่ในพื้นที่ “เหลือ” ที่มีประชากรอยู่น้อย เพื่อประเทศที่รับผู้อพยพจะไม่ต้องรองรับประชากรจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่ารัฐบาลของบลังคลาเทศอาจวางแผนรองรับผู้อพยพชาวโรฮิงยา 400,000 ที่เกาะฮาติยา ซึ่งในแม่น้ำที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ เกาะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมและพายุใต้ฝุ่น (bdnews24.com) พื้นที่เหลือที่ทำประโยชน์ไม่ได้นี้มักเป็นที่ร้อน แห้งแล้ง และเป็นฝุ่น เมื่อมีครอบครัวนับพันมาอาศัยอยู่อย่างแออัดโดยไม่มีขบวนการกำจัดของเสียที่เหมาะสมจึงก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมในค่าย หรือ “เมืองจำเป็น” เป็นเหมือนโลกจำลองสภาพของแหล่งชุมชนแออัดในเมืองที่ผู้อพยพที่ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศของตนและประเทศอื่นๆ (ภาพที่ 1)  

ผู้คนในสถานที่ลี้ภัยหรือแหล่งชุมชนที่ไปอยู่ใหม่มักมีความทุกข์ทรมานจากปัญหาของสภาพสถานที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเสบียงอาหารที่ไม่เพียงพอ, คุณภาพและปริมาณน้ำที่ไม่ดี, สภาพแวดล้อมที่รุนแรง ความโกรธแค้นและความกลัวจากประชากรในประเทศที่รับผู้ลี้ภัยมา ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจจากภาวะความชอกช้ำจากเหตุการณ์ทำให้ผู้ลี้ภัยหลายคนหรืออาจจะทุกคนต้องอยู่ในภาวะทุกข์ทรมานอย่างต่อเนื่อง ผู้ลี้ภัยไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานจากการขาดอาหารและที่พักพิง แต่ยังสูญเสียเครือญาติ ความผูกพันด้านวัฒนธรรมและความคุ้นเคยในทางภูมิศาสตร์ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเก็บมาเป็นฟืนและทำลายทุ่งหญ้าจากฝูงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนของประเทศนั้น (Adam-Bradford et al., 2009) ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ผู้อพยพรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชุมชน  

บทความนี้จะแสดงรูปแบบต่างๆในการทำสวนครัว ทำการเกษตร และการฟื้นฟูดินที่สามารถนำมาใช้ในค่ายผู้ลี้ภัย เพื่อให้เกิดแหล่งอาหาร ใช้ความรู้ของผู้อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างทักษะต่างๆในการดำรงชีวิต และจัดการปัญหาทั้งหลายทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจที่ชุมชนเหล่านี้ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

นโยบายและข้อจำกัดในปัจจุบัน 

การแบ่งสรรอาหารสำหรับผู้อพยพที่อยู่ในค่ายได้เปลี่ยนไปตั้งแต่ช่วงปี 1970 เพื่อป้องกันการได้รับอาหารที่น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ (caloric deficit) และลดอัตราการเสียชีวิตที่สูงอยู่แล้วในผู้อพยพในทศวรรษนั้น การแบ่งสรรอาหารเปลี่ยนไปจากระดับ “การอยู่รอด” คือ 1200-1800 กิโลแคลอรี่/คน/วัน ไปที่ “อย่างต่ำ” คือ 1900 กิโลแคลอรี่/คน/วัน และในปัจจุบันถึงระดับอย่างน้อย 2100 กิโลแคลอรี่ (Mason, 2002) อาหารที่แบ่งสรรนั้นประกอบไปด้วยข้าวสาลีหรือข้าวโพด น้ำมันพืช เกลือ และน้ำตาล บางครั้งอาจเสริมด้วยถั่วพัลส์ (Pulse), การเติมคุณค่าด้วยสารอาหารจากข้าวโพด ผสมถั่วเหลือง, เนยถั่ว และซอสมะเขือเทศเข้มข้น (ภาพที่ 2) ทั้งหมดเป็นอาหารที่เก็บได้นาน แต่น่าเสียดายที่อาหารที่หนักทางแป้งนี้ยังขาดสารอาหารรองและส่งผลให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันและโรคหนังกระ (Pellagra) (WHO and UNHCR 1999; 2000) 

องค์การ UNHCR และโครงการอาหารโลก (World Food Programme หรือ WFP) ตระหนักถึงความต้องการอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการแต่ติดขัดที่ขาดงบประมาณและอาหารที่ไม่เพียงพอ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบ่อย รวมถึงผู้อพยพที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่รับรู้ของผู้บริจาคและงบประมาณขึ้นไปในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่งบประมาณในปี 2018 น้อยกว่าความต้องการที่การที่คาดการณ์ไว้ 25% (Columbus, 2018) 
องค์การ UNHCR ได้ตัดสินใจส่งเสริมการใช้พืชผักในอาหารเมื่อปี 2007 และเริ่มต้นโครงการทดลองการทำสวนครัว (Adam-Bradford et al., 2009) โดยมีความตั้งใจที่จะใช้การทำสวนครัวภายในครอบครัวเพื่อโภชนาการอาหารและยุทธวิธีในการดำรงชีพ แต่ข้อจำกัดด้านงบประมาณและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการก่อตั้งค่ายอพยพใหม่ๆจึงชลอการดำเนินการนี้  และที่ทำให้ปัญหาหนักขึ้นคือนโยบายเกี่ยวกับที่ดินของประเทศผู้รับผู้อพยพที่ไม่อนุญาติให้ผู้อพยพทำการเกษตรนอกเขตของค่าย วิกฤตผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้องค์กรบรรเทาทุกข์มุ่งเน้นไปที่การจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานคือที่อยู่อาศัย น้ำ การรักษาพยาบาล และการจัดสรรอาหาร และทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายไปสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูที่มักเกิดขึ้นตามมาหลังจากภัยพิบัติเช่นแผ่นดินไหวหรือสึนามิ โดยสิ่งปลูกสร้างที่ถาวรขึ้นเพื่อการอยู่อาศัยและคลีนิกที่จำเป็นต่อวิกฤตการณ์ที่ยืดเยื้อก็ต้องล่าช้าออกไปเช่นกัน  

 
สัญญาณแห่งความหวัง  

อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ต้องเอาชนะให้ได้เมื่อมีการเริ่มต้นโครงการคือความคิดที่ว่าการปลูกพืชเพื่ออาหารคือการล้มเลิกความหวังในการที่จะได้กลับบ้านหรือได้ไปตั้งหลักแหล่งที่ถาวรมากกว่า วิธีหนึ่งในการเอาชนะความกลัวในการตั้งหลักแหล่งคือการใช้สวนครัวเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ในชั้นเรียนการศึกษาผู้ใหญ่หรือเป็นโครงการขยายผลที่มุ่งเน้นการใช้เทคนิคใหม่ๆที่สามารถนำไปใช้เมื่อกลับไปที่บ้าน การเรียนรู้ทักษะความรู้ใหม่ที่ค่ายอพยพเป็นเหมือนการได้ไปโรงเรียนและประยุกต์ใช้เทคนิคเหล่านั้นในสถานการณ์อื่น เช่นการทำสวนครัวและการจัดทิวทัศน์ในชุมชนเมือง

AN 38 Ref Fig2
ภาพที่ 2: Ayesha Khatun เป็นคนทำงานในค่าย Balukhali ในประเทศ บังกลาเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงชาวโรฮิงญา ในศูนย์สตรี เธอกำลังยืนอยู่หน้าแปลงผักแนวตั้งแบบเลื้อยขึ้น ที่มาภาพ: UN Women/Allison Joyce, Creative Commons Attribution License


ก้าวหนึ่งที่สำคัญที่จะให้การทำสวนครัวเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้อยู่อาศัยคือการรับสมัครผู้อพยพที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรและมีความกระตือรือล้นให้มาเป็นผู้ฝึกอบรมให้กับผู้อพยพคนอื่นๆ การเรียนรู้จากวัฒนธรรมของกันและกันและการได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมักจะเป็นการเรียนรู้ที่ง่ายกว่า “ผู้นำกิจกรรม” คล้ายกับผู้นำเกษตรกรในโครงการพัฒนาการเกษตรกระแสหลักต่างๆ (ภาพที่  3) ผู้นำกิจกรรมนี้จะได้รับการว่าจ้างในฐานะครูแต่จะต้องทำสวนครัวร่วมกับครอบครัวและเป็นสวนครัวสาธิตขนาดเล็กต่างพื้นต่างๆในค่าย สมาชิกในชุมชนที่ตั้งใจเหล่านี้จะเป็นเหมือนคนกลางระหว่างผู้อาศัยและผู้ที่บริจาคอุปกรณ์และเมล็ดพันธุ์ (Adam-Bradford et al., 2009

การวางแผนการใช้ที่ดิน 

AN 38 Ref Fig3

ภาพที่ 3: เด็กๆชาวโรฮิงญา เก็บฟืน นอกค่าย Balukhali ประเทศบังกลาเทศ  ที่มาภาพ: UN Women/Allison Joyce, Creative Commons Attribution License


สิ่งที่จำเป็นต้องมีมากที่สุดอย่างหนึ่งในการวางแผนการทำการเกษตรในค่ายอพยพคือการสงวนที่ดินส่วนหนึ่งไว้ โดยให้บริเวณอาคารและเต้นท์ที่พักมีการวางตำแหน่งให้เหลือที่ทำสวนครัว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเท่าๆกันคือการคำนึงถึงว่าน้ำเสียจะเกิดขึ้นส่วนไหนแล้ววางตำแหน่งที่จะปลูกพืชผักไว้ใกล้ๆส่วนนั้น ของเหลือจากอาหาร มนุษย์และสัตว์สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยหากมีการจัดการของเสียและอุปกรณ์การทำปุ๋ยหมักที่ออกแบบและตั้งอยู่ในที่ที่จะเปลี่ยนของเหลือเหล่านั้นให้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ประโยชน์ได้ การจัดหาพลังงานสำหรับการทำอาหารและให้ความอบอุ่นต้องมีการวางแผนไว้และต้องมีการจัดพื้นที่ให้เข้าถึงได้เพื่อการเก็บรวบรวมและผลิตฟืนเชื้อเพลิง (ภาพที่ 4) ค่ายอพยพต้องปลูกพันธุ์ไม้เพื่อเป็นเชื้อฟืนโดยเร็วเพื่อป้องกันความขัดแย้งกับเกษตรกรข้างเคียงและผู้ผลิตถ่านหุงต้ม และต้องมีพื้นที่สำหรับโรงเพาะชำกล้าไม้เพื่อเป็นพื้นที่สาธิตและอบรม (Corbett, 2009) ผู้ดูแลโรงเพาะชำนี้มักเป็นเด็กๆและผู้สูงอายุเพราะกล้าไม้นี้สามารถเพาะได้ในโรงเรียนและศูนย์กิจกรรมที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นอยู่แล้ว   

องค์กร NGO ต่างๆสามารถเข้ามามีบทบาทในการพูดคุยจัดการประเด็นที่เกี่ยวกับที่ดินนี้ องค์กร The Border Consortium เป็นองค์กร NGO ในประเทศไทยที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการถือครองที่ดินให้กับคนท้องถิ่นและคนพลัดถิ่น (TBC Strategy, 2017) องค์กร NGO อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยคือ The Catholic Office for Emergency Relief and Refugees ทำการอบรมสมาชิกในชุมชนในการดูแลระบบจัดการของเสีย รวมถึงการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการสึกกร่อนของหน้าดิน (COERR)  

AN 38 Ref Fig4

ภาพที่ 4: ทางเข้าเต็นท์ในเคอร์ดิสถาน. ที่มาภาพ: Mustafa Kyayat, Creative Commons Attribution License

ทางเลือกในการทำเกษตรที่ปฏิบัติได้จริงในบริบทของค่ายผู้ลี้ภัย  

สวนครัว “ทางเช้าบ้าน” (Doorstep Gardening) 

สวนครัวส่วนตัวที่ปลูกเป็นอาหารเสริมให้กับมื้ออาหารของครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนจากการออกแบบที่มีอยู่ก่อนแล้วหลายๆอย่าง ประเภทของสวนครัวที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ดิน น้ำและแรงงานมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น สวนผักในเมือง สวนผักดาดฟ้า หรือสวนผักทางเข้าบ้าน (Price, 1996) ภาพที่ 5 เป็นภาพประกอบ “ทางเข้าบ้าน” ของครอบครัวผู้อพยพครอบครัวหนึ่ง รูปแบบและวิธีการนี้นำมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการทำเกษตรในเมืองที่ค่อยๆพัฒนามาจากชุมชนเมืองที่มีอยู่ทั่วโลก (Price, 2018) เขตเมืองขนาดใหญ่ทั้งหลายที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งเสื่อมโทรม สลัม หรือชุมชนแออัดรอบเขตชานเมืองมักค้นพบวิธีการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นและทรัพยากรที่มีน้อยลง รูปแบบการเกษตรขนาดเล็กนี้ได้ผสมผสานวัสดุรีไซเคิลเพื่อทำเป็นกรงเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก เป็นภาชนะปลูก และสร้างเป็นแปลงปลูกแบบยกพื้น เศษวัสดุเหลือใช้ถูกนำมาสร้างเป็นระบบกักเก็บน้ำอันชาญฉลาดเพื่อเก็บและส่งน้ำฝนกับน้ำที่ใช้แล้วไปยังสวนที่ปลูกพืชผักเอาไว้  
วิธีการใหม่ ๆ ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและเด็กกำพร้า สิ่งเหล่านี้รวมถึงแปลงปลูกผักที่ทำปุ๋ยหมักได้ (สวนรูกุญแจ) และสวนครัวที่อยู่ในบริเวณบ้านที่ช่วยให้ผู้ที่เคลื่อนไหวไม่คล่องตัวหรือต้องอยู่ดูแลบ้าน (Merrey and Langan, 2014) สวนรูกุญแจใช้ระบบแปลงปลูกผักแบบยกสูงถึงระดับเอว สำหรับผู้ที่ไม่สามารถก้มตัวได้ ผู้ที่ต้องการการพยุงเมื่อยืนหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา แต่สามารถสัมผัสทางที่อยู่รอบแปลงได้ สวนผัก “ทางเข้าบ้าน” แบบต่างๆนี้ช่วยเพิ่มการบริโภคผักสดและสมุนไพรในมื้ออาหารทำได้ง่ายขึ้น

 

สวนครัวหลายชั้น (Multi-story Gardens หรือชื่อย่อ MSG) 

วิธีทำสวนครัวทั้งเก่าและใหม่เหมาะกับข้อจำกัดของสถานการณ์ที่ผู้อพยพเผชิญอยู่ คือต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์หรือเพิงที่เรียงเป็นแถว โดยมีเพียงพื้นที่ว่างที่จะปลูกผักได้ที่อยู่ตรงด้านนอกของส่วนทำอาหารและที่นอน กระแสการรีไซเคิลที่เป็นเอกลักษณ์ของค่ายผู้ลี้ภัยมีส่วนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆมากขึ้น กระสอบข้าวและกระป๋องน้ำมันปรุงอาหารเป็นของเหลือใช้จากการแจกจ่ายอาหารในค่ายและถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสวนครัวหลายชั้น (องค์กร Global Service Corps) คือนำหิน ดิน และปุ๋ยหมักใส่ในกระสอบและกระป๋องให้เต็มเพื่อปลูกพืชผักและรดน้ำได้ง่าย โดยจัดวางในแบบต่างๆเพื่อใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพและสะดวกในการจัดเรียงใหม่ตามที่ครอบครัวต้องการจะเปลี่ยน 

โครงการสวนครัวหลายชั้นทำให้เกิดความหลากหลายทางอาหาร ให้ความรู้ด้านโภชนาการ และเป็นการพึ่งพาตัวเอง กระสอบเปล่าที่เคยใช้บรรจุธัญพืช 50 กก. และกระป๋องโลหะหรือพลาสติกใส่เชื้อเพลิงขนาด 18 ลิตร มีพื้นที่เพียงพอสำหรับระบบรากของผักทั่วไป กระป๋องขนาดเล็กยังสามารถใช้ทำเป็นช่องทางน้ำไหลภายในถุงเพื่อให้ง่ายต่อการรดน้ำจากน้ำที่ใช้แล้ว (ภาพที่ 6) โดยการใส่ก้อนหินให้เต็มกระป๋องเหล่านี้แล้ววางซ้อนกันขึ้นไปตรงกลางถุง ที่กระป๋องเจาะรูหลายๆรูไว้ที่ก้นและด้านข้างเพื่อให้น้ำไหลลงช้าๆ ดินที่อยู่รอบกระป๋องเหล่านี้จะได้รับความชื้นตลอดทั้งวัน 

AN 38 Ref Fig5
ภาพที่ 5: การรดนำ้สวนกระสอบหลายชั้นในประเทศ เฮติ. ที่มาภาพ: Colleen Taugher, Creative Commons Attribution License

 

ส่วนการปลูกให้ปลูกเมล็ดที่ต้องการไว้ในดินบริเวณด้านบนของถุงหรืออาจใช้วิธีนำต้นกล้ามาลง ที่ด้านข้างของถุงให้ตัดเป็นรูและนำต้นกล้าบางส่วนที่ขึ้นบริเวณด้านบนย้ายมาปลูกที่ด้านข้างเพื่อทำเป็นเหมือนหอคอยผักแนวตั้ง (Adam-Bradford et al., 2009) การที่มีสวนครัวหลายชั้นอยู่ใกล้ๆแบบนี้ทำให้ง่ายต่อการดูแล ลดความเสี่ยงในการถูกขโมย และสามารถตรวจดูความต้องการน้ำของพืชได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังสามารถตกแต่งและช่วยในการแบ่งบริเวณพื้นที่ใช้สอยนอกบ้านหรือกรงสัตว์เลี้ยง สวนหลายชั้นนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในค่ายผู้ลี้ภัยที่เคนยา เอธิโอเปียและอาเจะห์อินโดนีเซีย ผักที่ปลูกโดยทั่วไปในสวนครัวหลายชั้นนี้ได้แก่ มันเทศ แครอท หัวบีท ถั่วเขียว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักใบเขียว กระเจี๊ยบเขียว พริก มะเขือ หัวหอม เครื่องเทศปรุงอาหาร พืชสมุนไพรและไม้ประดับ(Tsadik, 2009).

 

สวนครัวชุมชนสำหรับทุกครอบครัว 


สวนครัวชุมชนที่ให้แต่ละครอบครัวมีพื้นที่ปลูกผัก มีการกำหนดพื้นที่ตามระบบการจัดสรรที่ใช้อยู่ในหลายเมืองในยุโรป (Surls, 2001) การทำสวนครัวในรูปแบบการจัดสรรพื้นที่นี้ส่งผลให้แปลผักมีความหลากหลายอย่างมาก และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของแปลงและเกิดการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ต่างๆที่มีอยู่ การทำแปลงปลูก ทำกองปุ๋ยหมัก ทำรั้ว และการสร้างโรงเรือนมักเป็นกิจกรรมกลุ่มที่ทำร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคี สวนครัวรูปแบบนี้เป็นการส่งเสริมการแบ่งปันเครื่องมือ วัสดุปลูก และความรับผิดชอบร่วมกันในการเลี้ยงสัตว์ 

สวนครัวของชุมชนที่ครอบครัวมีส่วนร่วมเป็นที่ที่เหมาะกับการสอนและสาธิตเทคนิคการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกปุ๋ยพืชสด การคลุมดิน การให้น้ำแบบหยด ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติ และเทคนิคการควบคุมศัตรูพืช (FAO, 2005) วิธีการเหล่านี้นำมาสอนได้โดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์เข้ามาจากภายนอกหรือทำการผลิตขึ้นเอง การจัดสรรที่ให้เพาะปลูกมีประโยชน์ในด้านสุขภาพและการบำบัดรักษา นอกเหนือจากการทำสวนครัว “ทางเข้าบ้าน” เพราะเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ให้โอกาสผู้คนได้แบ่งปันและสร้างสัมพันธ์ (รูปที่ 7) (Hawkins et al., 2013) ซึ่งกิจกรรมอาจจัดขึ้นที่โรงเรียนหรือศูนย์ชุมชนซึ่งเป็นสถานที่เหมาะสม หรือไม่เช่นนั้นต้องมีการจัดสรรที่ส่วนหนึ่งไว้เมื่อมีการออกแบบค่ายอพยพ 

AN 38 Ref Fig6
ภาพที่ 6: สวนผักชุมชนในค่าย Oure Cassoni , Chad. ที่มาภาพ: UNHCR/F. Noy, Creative Commons Attribution License

การเกษตรขนาดใหญ่ 

การขาดแคลนงบประมาณและจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นทำให้การผลิตพืชผลในพื้นที่ขนาดใหญ่ในค่ายผู้อพยพกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น และไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมนอกเวลาหรือกิจกรรมเสริมเท่านั้น แต่จะต้องมีการวางแผนและออกแบบพื้นที่เพาะปลูกในค่ายอพยพที่ก่อตั้งใหม่และการแนะนำโครงการเพาะปลูกในค่ายที่ก่อตั้งอยู่ก่อนแล้ว องค์การ UNHCR, สภากาชาด, สภาเสี้ยววงเดือนแดงและโครงการอาหารโลก ไม่มีอำนาจหน้าที่ บุคลากรหรือเงินทุนในการจัดตั้งภาคการเกษตรภายในค่าย ดังนั้นหน่วยงานพหุภาคีและองค์กรพัฒนาเอกชนควรได้รับการสนับสนุนให้ริเริ่มหรือเพิ่มโครงการ พร้อมกับความรู้และเงินทุนที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการพึ่งพาตนเองให้กับผู้อพยพ (FAO et al., 2018)

 ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและข้อกังวลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนครัวยังมีผลกับการทำการเกษตรในค่ายผู้ลี้ภัยด้วย ต้องมีการใช้วิธีการที่ปลอดสารพิษ ใช้ทรัพยากรน้อยละราคาไม่แพง ไม่ว่าวิธีการเหล่านั้นจะมีชื่อเรียกว่าเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรนิเวศหรือเกษตรอนุรักษ์ เทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกสลับ การปลูกพืชหมุนเวียน การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดคลุมดิน การคลุมดิน การขุดหลุมปลูก(Zai holes) และวิธีให้น้ำแบบต่างๆ ธัญญาพืชที่ปลูกกันมากที่สุดในค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ลูกเดือยและข้าวฟ่าง (รูปที่ 8) ส่วนผักที่ปลูกทั่วไป ได้แก่ คะน้า ผักโขม ฟัก กระเจี๊ยบเขียว พริก มะเขือเทศ หัวหอมและกะหล่ำปลี และถั่วพัลส์กับเมล็ดธัญพืช ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วฝักยาว งา และทานตะวัน (Weimer, 2008)

การจัดภูมิทัศน์ให้เป็นสีเขียวและยั่งยืน 

การจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อรองรับความขัดแย้งของพลเมืองและภัยพิบัตินั้น ต้องมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเคลียร์พื้นที่ การล้อมเขต การสร้างเต็นท์ที่พักและสร้างถนนให้เร็วที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความสวยงามของภูมิทัศน์ ความสวยงามน่าดูของค่ายอาจถูกปรับเปลี่ยนไปตามเวลาและบางครั้งคงอยู่แบบนั้นอยู่หลายทศวรรษ การปรับปรุงลักษณะของสภาพแวดล้อมส่งผลดีในด้านอื่นด้วยเช่นกัน ต้นไม้ที่ร่มรื่นจะช่วยลดอุณหภูมิ ลดความเร็วลมและลดฝุ่นละอองในอากาศ นอกจากนี้ต้นไม้ยังเป็นที่มาของผลไม้ ถั่ว ยาและแหล่งอาหารสำหรับผึ้ง องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยใช้ชื่อว่าเลมอน ทรี ทรัสต์ มีความพยายามในการส่งเสริมการปลูกต้นเลมอนในค่ายด้วยนอกเหนือจากการทำสวนครัว (Lemon Tree Trust) ค่ายอพยพแต่ละแห่งมีสภาพที่แตกต่างกันมาก ที่หนึ่งอาจเหมาะสำหรับปลูกต้นมะกอกและอีกที่หนึ่งเหมาะที่จะปลูกต้นกล้วย และค่ายอพยพหลายแห่งมีเงื่อนไขที่คล้ายกันแบบนี้ 

ไม้พุ่มและไม้รั้วควรใช้ทดแทนรั้วลวดหนามและผนังปูนที่ไม่น่าดู ไม้ที่ปลูกเป็นแนวแบบนี้ยังใช้เป็นอาหาร มีดอกไม้และลดฝุ่นได้ สมุนไพรและดอกไม้ที่ปลูกในภาชนะตามแนวเขตและอาคารที่อยู่ล้อมรอบช่วยเพิ่มความสวยงามและนำมาใช้เป็นสมุนไพรปรุงอาหารและดื่มเป็นชาได้ 

นอกเขตค่ายลี้ภัย – วนเกษตร 

ค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งไม่สามารถจัดหาถ่านหรือก๊าสหุงต้มสำหรับการปรุงอาหารได้ และผู้อาศัยต้องออกไปนอกค่ายเพื่อไปเก็บฟืนมาเป็นเชื้อเพลิง ค่ายผู้ลี้ภัยมักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การขาดแคลนไม้ฟืนและการนำสัตว์เข้าไปแทะเล็มมากเกินไป การแย่งไม้ฟืนและทุ่งหญ้าบางครั้งนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรง เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศที่รับผู้ลี้ภัยถอนการสนับสนุนหรือเพิ่มการรักษาความปลอดภัยเพื่อกักผู้ลี้ภัยไว้ภายในค่าย (Adam-Bradford et al., 2009) 

ความพยายามในการปลูกป่าแบบดั้งเดิมไม่ได้ผลในสถานการณ์เช่นนี้เนื่องจากพันธุ์ไม้ยืนต้นที่ใช้ปลูกโดยทั่วไปไม่ได้ให้ประโยชน์หลากหลายที่ชาวค่ายและคนในพื้นที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการปลูกสวนป่าไม้ยืนต้นและป้องกันการนำไปใช้เป็นระยะเวลานานจนกว่าจะครบอายุที่จะนำไปขายได้ ระบบวนเกษตรเป็นแหล่งผลผลิตและให้ประโยชน์หลากหลายที่คนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหารสัตว์ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ฟืน ไม้เสาก่อสร้าง ผลไม้และถั่ว การควบคุมการกัดเซาะหน้าดิน ตลอดจนพื้นที่สำหรับพืชที่ปลูกร่วมกับไม้ยืนต้น (UNHCR, 2005) 

การใช้วนเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ ค่ายยังเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานผู้ลี้ภัยให้ทำงานในโรงเรือนที่ผลิตกล้าไม้ ทำการปลูกต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ เก็บฟืนและไม้เสาตามข้อกฏข้อบังคับที่ตั้งขึ้น รวมถึงการตัดพืชสดและนำมาให้สัตว์กิน (Martin and Scott, 2535) (ภาพที่ 9) การเลี้ยงสัตว์แบบเข้มข้นในกรงยังสามารถสร้างงานในการรีดนม การแปรรูปอาหารและการผลิตปุ๋ยหมัก การอบรมในค่ายเพื่อเรียนรู้การผลิตเตาปรุงอาหารแบบประหยัดเชื้อเพลิงอาจสร้างงานและลดความต้องการเชื้อเพลิงโดยรวมได้ (UNHCR, 2005) 

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ยืดเยื้อไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเสมอไป แต่อาจเป็นแรงกระตุ้นในการฟื้นฟูภูมิทัศน์และการทำเกษตรที่มีการจัดการเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลายที่จะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศที่รับผู้ลี้ภัย (Adam-Bradford et al., 2009) รูปแบบการทำวนเกษตรสามารถลดการพังทลายของดิน บรรเทาภาวะน้ำท่วมและวงจรภัยแล้งและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ล่ามากินได้ ผู้ลี้ภัยหลบหนีจากความไม่มั่นคงและต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อสร้างชีวิตใหม่ อีกทั้งชุมชนที่รับผู้ลี้ภัยยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย และทรัพยากรที่ระดมมาจากความช่วยเหลือของนานาชาติสามารถให้ประโยชน์แก่พวกเขาได้เช่นกันผ่านการฟื้นฟูผืนดิน 

รูปแบบการส่งเสริมการเกษตรและการพัฒนาชุมชน 

ในค่ายของผู้ลี้ภัยมีปัญหาและข้อจำกัดด้านความรู้ทางการเกษตรที่เฉพาะตัวและไม่เหมือนกับปัญหาและข้อจำกัดที่พบในชุมชนต้นกำเนิด แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายประเด็นที่เหมือนกัน การส่งเสริมการเกษตรทุกอย่างควรให้เปิดกว้างสำหรับทุกคน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเคารพในวัฒนธรรม บทเรียนที่ได้รับจากหลายทศวรรษของการทำงานส่งเสริมที่ให้ชุมชนเป็นฐานและรูปแบบจากเกษตรกรสู่เกษตรกร สามารถนำไปใช้กับการทำงานกับประชากรผู้อพยพและผู้ลี้ภัยได้ 

วิธีการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนและฟื้นตัวสู่สภาพเดิมได้ดีนั้นต้องมีทั้งความรู้ด้านการเกษตร วิชาชีพ และการส่งเสริมการเกษตร ที่นำมาใช้ภายในค่าย แต่น่าเสียดายที่ผู้อพยพจำนวนมากต้องเผชิญกับภัยพิบัติและสถานการณ์ที่ถูกมุ่งร้ายต่อพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก หรืออย่างดีที่สุด คือต้องเตรียมพร้อมในการเดินทางเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่อีกหลายขั้นตอน (Adam-Bradford et al., 2009 ) ค่ายผู้ลี้ภัยเป็นที่ฝึกเพื่อจัดเตรียมครอบครัวผู้อยู่อาศัยในการเผชิญกับความท้าทายในอนาคตที่ไม่ใช่แค่การเกิดวิกฤตที่เล็กน้อยเท่านั้น และค่ายผู้ลี้ภัยอาจยังเป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมความรู้ให้กับชุมชนโดยรอบ ที่ไม่เคยเข้าถึงการส่งเสริมมาก่อน 

แผนการเพื่อสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของผู้ลี้ภัยจะเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์และการช่วยเหลือตัวเองในรูปแบบของกลุ่ม สหกรณ์ สมาคมให้ความช่วยเหลือ และกลุ่มสนับสนุน มีการใช้ทักษะการสร้างเครือข่ายในการจัดการปัญหาด้านการเกษตร การทำสวนครัวชุมชน และวนเกษตรที่ต้องเผชิญในค่าย และทักษะนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างชีวิตใหม่ในที่อื่นต่อไป ถ้าผู้ลี้ภัยต้องพึ่งพาช่วยเหลือตนเองและเผชิญกับความท้าทายในอนาคต พวกเขาจะต้องมีทักษะความสามารถในการพึ่งพาผู้อื่น 

การปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยวอาหารเป็นการบำบัดเพื่อการฟื้นฟูอย่างหนึ่ง เป็นกิจกรรมที่ส่งผลดี และเป็นงานอดิเรกที่มีประโยชน์ การเพิ่มขีดความสามารถและการจัดเตรียมผู้ลี้ภัยเพื่อดูแลรักษาผืนดินและทำมาหากินจากผืนดินนั้นไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ลี้ภัยฟื้นตัวจากการสูญเสีย แต่ยังช่วยพัฒนาชีวิตที่อยู่ร่วมกันในชุมชนด้วย ตามคำพูดของโนฮัด คาลาช ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ค่ายผู้ลี้ภัยโดมิซในประเทศเคอร์ดิสถาน ที่กล่าวว่า "หากปราศจากสีเขียวโลกก็ไร้ความหมาย ที่ใดมีสีเขียวที่นั่นก็มีความสุข” (Beck, 2017) 

 

อ้างอิง


Adam-Bradford, A., F. Hoekstra, and R. van Veenhuizen. 2009. Linking Relief , Rehabilitation and Development: A Role for Urban Agriculture? Urban Agriculture Magazine. 21:3–10. Available: https://pdfs.semanticscholar.org/6cb1/29990e382f98b054c0892b76fe727a59ad86.pdf


BDNews24.com. Published 28 November, 2017. Tk 23.12 Billion for Rohingya Housing Project on Island in Hatia. Available: https://bdnews24.com/bangladesh/2017/11/28/tk-23.12-billion-for-rohingya-housing-project-on-island-in-hatia


Beck, C. 2017. Gardens of Hope. The Lemon Tree Trust. Available: https://lemontreetrust.org/wp-content/uploads/2018/02/GI_257_p080-083_LemonTree.pdf


COERR. Catholic Office for Emergency Relief and Refugees. Thai-Burmese Border Refugee Project. Accessed April 9, 2019. 


Columbus, C. 2018. The UN’s Terrible Dilemma: Who Gets to Eat? National Public Radio. Accessed March 27, 2019. Available: https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2018/01/10/574597536/the-u-n-s-terrible-dilemma-who-gets-to-eat.


Corbett, M. 2009. Multi-Storey Gardens to Support Food Security. Urban Agriculture Magazine. 21: 34–35. Available: http://www.indiaenvironmentportal.org.in/files/Multi%20storey%20Gardens%20to%20Support.pdf


FAO. 2005. Setting Up and Running a School Garden: A Manual for Teachers, Parents, and Communities. Available: http://www.fao.org/3/a0218e/A0218E00.htm


FAO, IFAD, IOM, and WFP. 2018. The Linkages Between Migration, Agriculture, Food Security and Rural Development. Available: http://www.fao.org/3/CA0922EN/CA0922EN.pdf


Global Service Corps. Making a Sack Garden. Accessed from echocommunity.org. Available: https://www.echocommunity.org/en/resources/69ec0db4-d544-4c9d-aeed-0e8fbe92075e


Hawkins J. L., J. Mercer, K. J. Thirlaway, and D. A. Clayton. 2013. “Doing” Gardening and “Being” at the Allotment Site: Exploring the Benefits of Allotment. Ecophysiology. 5:110–125. Available: http://orca.cf.ac.uk/53177/1/Ecopsychology%20Paper%20-%20JHawkins%20et%20al.%20June%202013.pdf


International Organization of Migration. Accessed March 27, 2019. Available: https://migrationdataportal.org/?i=stock_abs_&t=2017
Lemon Tree Trust. Accessed March 27, 2019. Available: https://lemontreetrust.org


Martin, F. and S, Scott. 1992. Agroforestry Principles. ECHO Technical Notes. 25: 1-10. Available: https://www.echocommunity.org/en/resources/06c870a1-3fbb-47ec-9951-e8c0cb134582


Mason, J. B. 2002. Lessons on Nutrition of Displaced People. Journal of Nutrition. 132:2096–2103. Available: https://academic.oup.com/jn/article/132/7/2096S/4687321


Merrey, D. J., and S. Langan. 2014. Review Paper on “Garden Kits” in Africa: Lessons Learned and the Potential of Improved Water Management. International Water Management Institute Working Papers. 162. Available: https://ilssi.tamu.edu/media/1078/review-paper-on-garden-kits-in-africa.pdf


Price, M. L. 2018. Gardening on Rooftops: The Last Agricultural Frontier. Available: https://www.echocommunity.org/en/resources/13e3e04a-d10f-4c96-8438-f7686f431882 


Price, M. L. 1996. Rooftop and Urban Gardening. ECHO Technical Notes. 31: 1-20. Available: https://www.echocommunity.org/en/resources/0940276d-a2a2-431e-8778-2d81c8260548


Surls, R. 2001. Community Garden Start up Guide. RUAF Foundation. Available: https://www.ruaf.org/sites/default/files/Community%20garden%20startup%20guide.pdf


The Border Consortium. 2017. TBC Strategy 2017-2019. Available: https://www.theborderconsortium.org/media/84542/Strategic-Plan-2017-2019-En.pdf


Tsadik, M. 2009. Enhancing Household Food Security in Refugee Camps in Ethiopia. Urban Agriculture Magazine. 20:16–17. Available: http://re.indiaenvironmentportal.org.in/files/Enhancing%20Household%20Food%20Security.pdf


UNHCR. 2005. Forest Management in Refugee and Returnee Situations: A Handbook of Sound Practices. United Nations High Comissioner for Refugees. Available: https://www.unhcr.org/438724c42.pdf


UNHCR. 2018. Global Trends: Forced Displacement in 2017. United Nations High Comissioner for Refugees. Available: https://www.unhcr.org/5b27be547.pdf


Weimer, A. 2008. Homestead Gardening: A Manual for Program Managers, Implementers, and Practitioners. Catholic Relief Services. Available: https://www.ruaf.org/sites/default/files/Homestead%20gardening%20manual.pdf


WHO and UNHCR. 1999. Scurvy and Its Prevention and Control in Major Emergencies.     

World Health Organization and United Nations High Comissioner for Refugees. Available: https://www.who.int/nutrition/publications/emergencies/WHO_NHD_99.11/en/


WHO and UNHCR. 2000. Pellagra and Its Prevention and Control in Major Emergencies.     

World Health Organization and United Nations High Comissioner for Refugees. Available: https://www.who.int/nutrition/publications/emergencies/WHO_NHD_00.10/en/


ป้ายระบุ

Refugee

ภูมิภาค

Asia

คอลเลกชัน